ตรรกะแปลกๆในคัมภีร์สารัมภ์

ตรรกะแปลกๆในคัมภีร์สารัมภ์
สวัสดี เช้า วันปีใหม่ 1-1-2560 วันนี้ ก็ยังคงพักผ่อน เบาๆ แต่จะขอส่งเรื่องมึนๆปานกลางมาบริหารสมองกันก่อนเล็กน้อย
อันเนื่องมาจากคัมภีร์สารัมภ์ เมื่อศึกษาไปสักพัก จะเริ่มมึนงง กับ ประโยคหรือวลีหนึ่ง นั่นคือ “น้อยลบมาก” ซึ่งจะเจอบ่อยมาก โดยเฉพาะเมื่อต้องการคำตอบที่มาจากการลบกันของตัวเลขสองตัว ที่แย่ไปกว่านั้น บางครั้ง คำตอบของการลบ จะเป็นตัวนำไปสู่ทางเลือกอันใด อันหนึ่ง ในขั้นตอนของการคำนวณซึ่งแยกการคำนวณออกจากกัน ผลลัพธ์ที่ได้ จะแตกต่างกัน ไปด้วย แน่นอนว่า ถ้าตีความผิด ทุกอย่างก็พัง ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่หมด เช่นเคย!!!
เดิมที เคยทำพลาด ด้วยการทำตามตำราเป๊ะๆ ผลที่ได้คือ ค่าที่ติดลบ แต่ เอ๊ะ!!! ตำราไทยโบราณ ไม่รู้จักจำนวนติดลบนี่!!!! นี่ ผิดไปแล้ว หนึ่ง แถมบางที เมื่อคำนวณแบบไม่ติดลบได้แล้ว แต่เพราะการตีความประโยคคำนวณผิด ค่าที่ได้ก็ดูแปลกๆ สุดท้าย ก็ทำมันทั้งสองทางนั่นแหละ เลยไม่รู้ว่า อันไหนถูก กันแน่!!!!
เพราะมึนงง จึงทำให้ สูงสุดคืนสู่สามัญ ต้องไปหาอ่านตำราเด็กชั้นประถมหรืออนุบาล เพื่อดูนิยามและความหมายจริงๆของ การลบ ซึ่งทำให้เข้าใจอะไรบางอย่างได้ดีขึ้น
อีกอย่างที่มึน ไม่แพ้กัน เพราะประโยคที่ใช้อธิบายทางเลือกของการพิจารณาใช้ค่าเพื่อคำนวณ ในหลายๆจุดดูจะไม่สอดคล้องกัน บางจุดดูจะขัดแย้งกันเอง ทำให้สับสน จนต้องคำนวณทั้งสองทางตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น (โดยเฉพาะ ตำราของ อ.หลวงวิศาลฯ ภาคคำนวณสุริยคราส มีจุดที่ดูแล้วตีความยากกว่า ของอ.หลวงพรหมโยธี พอสมควร )
แนวทางแก้ไข ณ ขณะเวลานี้ (เป็นแนวทางแก้ไขส่วนตัว สนใจจะนำไปใช้หรือหาทางอื่นที่ดีกว่านี้ ก็ไม่เป็นไรครับ)
1 โดยความเข้าใจ ณ ขณะนี้ จริงๆแล้ว คำว่า “น้อยลบมาก” เมื่อวางเป็นประโยคสัญลักษณ์คณิตศาสตร์ จะได้ว่า
จำนวนมาก – จำนวนน้อย = เศษ
นั่นเอง
หมายเหตุ เพราะตำราไทยแต่โบราณ ไม่เคยปรากฎว่ามีตัวเลขที่ใช้เครื่องหมายลบนำหน้า หรือ ไม่เคยมีการใช้จำนวนติดลบ เลย
2 สำหรับประโยคที่ใช้อธิบายทางเลือกของการพิจารณาเพื่อการคำนวณนั้น จะมีลักษณะเป็นไปตามแนวทางของ ประโยคหรือวลี “น้อยลบมาก” ไปด้วย ฉะนั้น คำที่อยู่ข้างหน้าคำว่า ลบ จะมีค่าที่น้อยกว่า คำที่อยู่ข้างหลังคำว่า ลบ นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น
(๓๙) ตั้งอมาวสีสัมผัสดีกับทินาฒเทียบกัน แล้วเอาจำนวนน้อยลบจำนวนมาก ถ้าอมาวสีลบทินาฒได้ ผลลัพธ์เป็นคต ชื่อบุพรัตนมหานาฑี ตราไว้
ถ้าเอาทินาฒลบอมาวสีได้ ผลลัพธ์เป็นเอษฐ ชื่อ อัปรัตนมหานาฑี ตราไว้…….
สมมติว่า ค่าของทินาฒ มากกว่า อมาวสี
จากประโยคข้างบนนี้ ตีความไปซื่อๆ จะได้ค่าติดลบ ซึ่งไม่ถูก
แต่ ถ้าเราเข้าใจตามแนวทางที่กล่าวมาแล้ว จะพบว่า อมาวสี น้อยกว่า ทินาฒ
ดังนั้น ประโยคสัญลักษณ์ จะเป็น ทินาฒ – อมาวสี
อีกประเด็นที่ทำให้เราสับสนกันอยู่ตรงประโยคหลังจาก เอาจำนวนน้อยลบจำนวนมาก กล่าวคือ
ถ้า “อมาวสี” ลบ “ทินาฒ” ได้ ในความเข้าใจของคนยุคปัจจุบัน ก็คือ ถ้า จำนวน A ลบ จำนวน B ได้ นั่นแปลว่า A > B ใช่หรือไม่ !!!
ซึ่งกลับกัน กับความหมายในประโยคโบราณที่ยกมานี้ เพราะจริงๆแล้ว ประโยคนี้ จะแปลออกมาว่า เอาค่า อมาวสี ซึ่งมีค่าน้อย ไปหักลบ กับ ทินาฒ ที่มีค่ามาก ได้ ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับ ประโยคสัญลักษณ์ก่อนหน้า นั่นคือ ทินาฒ – อมาวสี ครับ ไม่ใช่ อมาวสี - ทินาฒ (ตรงนี้ ได้สร้างความสับสนในการทดลองคำนวณสุริยคราสมาแล้ว หลายครั้งด้วยกัน)
ณ จุดนี้ จะคำนวณโดยใช้ความเข้าใจตามแนวทางที่กล่าวมานี้ ไปก่อน ถ้าหากเป็นตามแนวทางนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว จะพบว่า คำนวณผิดไปหลายตัวอย่างอยู่ครับ คงต้องค่อยๆแก้ไขกันไป -____-' จบครับ.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Julian Date หรรษา

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์