สุริยสิทธานตะ- Reboot-คำนวณตำแหน่งดาว-บทส่งท้าย

 สุริยสิทธานตะ- Reboot-คำนวณตำแหน่งดาว-บทส่งท้าย

          มีสองประเด็น ที่ต้องเอ่ยถึง ก่อนที่เราจะไปต่อในงานทดสอบคำนวณของสุริยสิทธานตะ

          ประการแรก คือ เรื่องของแหล่งข้อมูล

          ที่ผ่านมา เดิมทีนั้น ใช้แต่ตำราของ E.Burgess เป็นหลัก มีเอกสารประกอบอื่นๆ จากคำค้นว่า Hindu, Indian Astronomy กองกันอีกเป็นตั้งมโหฬาร แต่ทุกอันแทบจะเรียกได้ว่า ยากแก่การทำความเข้าใจเกือบทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่มีแต่การอธิบายเนื้อหาแต่ไร้ซึ่งตัวอย่างการคำนวณมาประกอบ

          ต่อมา ราวช่วงปี 2019-2020 ทางผู้เขียนได้พบและอ่านเพื่อทำความเข้าใจวิธีการขั้นตอนคำนวณในคัมภีร์โบราณผ่านตำราที่ ด๊อกเตอร์ท่านหนึ่งได้เขียนเป็นผลงานไว้ ก็คือ งานของท่าน ศ. S. Balanchandra Rao. ซึ่งเขียนขึ้นผ่านมุมมองวิชาการร่วมสมัย ทำให้พอมองเห็นทางออกในการคำนวณผ่านตำราได้มากขึ้น

จึงตัดสินใจใช้สิ่งนี้ เป็นแนวทางหลักแทน ในการคำนวณทั้งก่อนหน้าและนับต่อจากนี้

ประการที่สอง การปรับพื้นฐานความเข้าใจ และการคำนวณ

ก่อนหน้านี้ ในการศึกษาวิธีการใช้งานผ่านตำรา E.Burgess เราพบความยุ่งยากในเชิงคำนวณอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตาราง sine ประกอบการคำนวณ ซึ่งมีลักษณะและวิธีการใช้แบบเฉพาะตัว อีกทั้งการอธิบายวิธีการใช้งานนั้นยังไม่ละเอียดพอ ทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้งาน เพราะไม่รู้ว่า ค่าที่ได้นั้นมาจากตรงไหนและต้องทำอย่างไร

หรือจะเป็นการคำนวณในแบบไม่ใช้ทศนิยม อันได้แก่ การแปลงหน่วยมุม ให้ออกมาอยู่ในรูปหลักหน่วยย่อย หรือ การแปลงหน่วยเวลา โดยสองเรื่องนี้ จะอยู่ในรูปของเลขฐาน 60 และมีบางอย่างเป็นความสมนัยกันอยู่จนทำให้ต้องตั้งสติ พิจารณากันให้ดี ในระหว่างการคำนวณ ว่านี่คืออะไร มุม หรือว่า เวลา ???

แม้จะมีจุดสังเกตตรงที่ลำดับชั้น หรือตัวเลขของการแปลงหน่วย เพราะค่าที่ใช้จะไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่หากไม่ระมัดระวัง ก็พบว่า ทำผิดกันอยู่เป็นประจำ

แค่สองเรื่องนี้ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ขัดต่อความเข้าใจในพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของผู้เขียนที่เคยชินกับระบบคณิตศาสตร์แบบปัจจุบันได้พอตัว แต่ก็จำเป็นต้องทำ หากต้องย้อนกลับไปศึกษาค้นคว้า งานคำนวณในอดีต

การพบงานเขียนของ ท่าน ศ. S. Balanchandra Rao. ดังกล่าว ได้ช่วยปลดล็อคผู้เขียนจากความน่าปวดหัวในการจัดการเรื่องพวกนี้ ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังรวมไปถึงเรื่องของการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ประกอบในการคำนวณกันอีกด้วย

ดังนั้น แนวทางหลัก ที่ผู้เขียนจะนำมาปรับใช้งานต่อจากนี้ไป จึงมีลักษณะเป็นดังต่อไปนี้

ประการแรก กลับมาสู่การคำนวณในระบบคณิตศาสตร์ปัจจุบันด้วยหน่วย SI หรือหน่วยวัดมาตรฐานใดๆในเชิงปัจจุบันทั้งหมด (ถ้าเป็นของบ้านเรา โดยมากจะเป็นพวกมาตราเมตริก) และวิธีการที่ใช้ คือ การคำนวณในรูปแบบของทศนิยม ยึดหน่วยใหญ่ที่สุดเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ รวมไปถึงวิธีการเชิงตัวเลขต่างๆที่อาจถูกนำมาใช้ในการทำงานแบบวนซ้ำด้วย

ประการที่สอง การคำนวณมุมต่างๆก็เช่นกัน จะกลับมาใช้งานกับระบบคำนวณแบบตรีโกณมิติในปัจจุบันที่มีค่าของ sin cos tan ในรูปแบบครบถ้วน เช่นเดียวกับที่นักเรียนมัธยมในปัจจุบันเขาร่ำเรียนกัน

ซึ่งทั้งสองประการนี้ สามารถจัดการและทำงานได้ผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพียงเครื่องเดียวและใช้โปรแกรมสำนักงานยอดฮิตเข้ามาช่วยประกอบหรือโปรแกรมช่วยเหลืออื่นใดเฉพาะทางอีกบางอันได้ หากว่าจำเป็น ทั้งนี้ ยังไม่รวมไปถึง การจัดการสร้างแอพพลิเคชั่นใดๆเอง เพื่อนำมาช่วยในการทำงาน

ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจในแง่ของวิธีการ และการนำเอาไปใช้งาน ซึ่งต้องบ่มเพาะและอาศัยการฝึกฝนกันต่อไป.

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

Julian Date หรรษา

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์