สุริยสิทธานตะ- Reboot-เรื่องของตาราง Sine ใน Surya Siddhanta และการใช้งาน ตอนที่ 1

 สุริยสิทธานตะ- Reboot-เรื่องของตาราง Sine ใน Surya Siddhanta และการใช้งาน ตอนที่ 1

          ตาราง Sine ใน Surya Siddhanta และการใช้งาน ตอนที่ 1

          จากบทความการคำนวณตำแหน่งดาว ที่ผ่านมา จะพบว่า มีการใช้ตารางอันหนึ่งเข้ามาประกอบในการคำนวณ โดยมีการเรียบเรียงวิธีการใช้งานจาก text ส่วนหนึ่งมาใส่ไว้ในขั้นตอนการคำนวณบางส่วนไว้พอสังเขป  ฉะนั้น ในบทความจากนี้ จะมานำเสนอกัน ถึงเรื่องราวของตารางที่ว่านี้กัน รวมถึงวิธีการใช้งานตารางเพิ่มเติม

ตารางที่ว่านี้ มีชื่อเรียกขานกันว่าตารางไซน์ของอารยภัฏ(Aryabhata’s Sine Table) หรือบางที ก็เรียกว่า ตารางไซน์ของอินเดีย(Indian Sine Tables) ก็มี

          เจ้าตารางที่ว่านี้ถูกคิดค้นและรวบรวมข้อมูลมาจากนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของอินเดียโบราณนามว่า อารยภัฏ นั่นเอง (ก็เลยตั้งชื่อตารางตามชื่อผู้คิดค้นนั่นแหละ ส่วนชื่อหลังนั้น ก็คงจะเรียกกันตามชื่อประเทศล่ะนะ)

          ลักษณะของตารางนี้ เป็นการบรรจุค่าส่วนของเส้นตรงที่รองรับส่วนโค้งของวงกลมแต่ใช้เพียงแค่ครึ่งเดียว โดยมุมที่ใช้จะเริ่มต้นที่ 3 องศา 45 ลิบดา ไปจนถึงมุม 90 องศา (ข้อมูลจาก wiki ) โดยมีรูปแบบดังนี้

 

          Sl. No  Angle(A) Angle(A)  Value in Hindu-Arabic    Aryabhata's          Versed sines

                   (DMS)  Decimal        numerals                 value of jya (A)         In min.

          1        03°  45′            3.75           225                        225′                       7

          2        07°  30′            7.5            224                        449′                       29

          3        11°  15′           11.25          222                        671′                       66

          4        15°  00′           15              219                        890′                       117

          5        18°  45′           18.75          215                        1105′                      182

          6        22°  30′           22.5            210                        1315′                      261

          7        26°  15′           26.25          205                        1520′                      345

          8        30°  00′           30              199                        1719′                      460

          9        33°  45′           33.75          191                        1910′                      579

          10      37°  30′           37.5            183                        2093′                      710

          11      41°  15′           41.25          174                        2267′                      853

          12      45°  00′           45              164                        2431′                      1007

          13      48°  45′           48.75          154                        2585′                      1171

          14      52°  30′           52.5            143                        2728′                      1345

          15      56°  15′           56.25          131                        2859′                      1528

          16      60°  00′           60              119                        2978′                      1719

          17      63°  45′           63.75          106                        3084′                      1918

          18      67°  30′           67.5            93                          3177′                      2123

          19      71°  15′           71.25          79                          3256′                      2333

          20      75°  00′           75              65                          3321′                      2548

          21      78°  45′           78.75          51                          3372′                      2767

          22      82°  30′           82.5            37                          3409′                      2989

          23      86°  15′           86.25          22                          3431′                      3213

          24      90°  00′           90              7                           3438′                      3438

           

          นี่คือ หน้าตาของตารางไซน์ที่ว่า ก็คือ มีค่าลำดับอยู่ทั้งหมด 24 ลำดับ มีมุมอยู่ 24 มุมประจำในแต่ละลำดับ ค่าความห่างระหว่างมุมในหน่วยลิบดา คือ 225 ลิบดา พร้อมด้วยค่าไซน์ของมุมดังกล่าวในลักษณะผลต่างแรกของมุมแต่ละลำดับ ในหน่วยลิปดาเช่นกัน

ข้อสังเกตคือ จากข้อมูลในตาราง หากเป็นตารางไซน์ของอารยภัฏแล้ว จะมีเพียงแค่ค่าของลำดับ มุมและค่าไซน์ของมุมในลักษณะผลต่างแรกของมุมแต่ละลำดับ ตามกล่าวข้างต้น เท่านั้น ค่าในสองคอลัมน์ด้านหลังนั้น ไม่มี

ในตำราสุริยสิทธานตะ มีการเพิ่มเติมค่าอีกสองคอลัมน์ในตาราง โดยสร้างคอลัมน์ค่าของไซน์ของมุมต่างๆจากผลบวกสะสมของผลต่างแรกของมุมแต่ละลำดับขึ้นมาเลย ทำให้การใช้งานกระทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมในส่วนของค่า versed sines เข้าไปอีกด้วย ซึ่งแสดงไว้ในตารางคอลัมน์สุดท้าย

วิธีการใช้งาน

          ในส่วนของการใช้งาน หากต้องการทราบค่าไซน์ของมุมไหน ให้นำค่าของผลต่างแรกในค่าของมุมลำดับก่อนหน้านั้นเข้ามาบวกกับผลต่างในลำดับที่มุมนั้นมีอยู่ เช่น ถ้าเราต้องการทราบค่าไซน์ของมุม 18 องศา 45 ลิบดา ทำได้โดยนำเอา ผลต่างแรกของมุมในลำดับที่ 1-5 มาบวกกัน คือ 225 + 224 + 222 + 219 + 215 = 1105 เป็นต้น

          ถ้าเป็นมุมที่มีในตาราง ก็หาค่าไซน์กันง่ายๆด้วยวิธีนี้ แต่ถ้าหากคำนวณมาแล้ว ค่าไม่ได้อยู่ในตารางไซน์ล่ะ เช่นว่า มุมที่ได้มา อยู่ระหว่างค่าในลำดับที่ 6 กับ 7 เช่นนี้ เราจะต้องทำอย่างไร

ในตอนหน้า จะมานำเสนอวิธีการหาค่าลักษณะดังกล่าวนี้กัน.

หมายเหตุ

จริงๆแล้ว จากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม

พบด้วยว่า มีการพัฒนาต่อยอดจากตารางไซน์ของอารยภัฏ(Aryabhata’s Sine Table) ต่อมาอีก

โดยนักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียในยุคหลังๆ อีกหลายท่าน ทำให้ได้ค่าที่ใกล้เคียงกับค่าแท้จริง

ของตารางไซน์ในปัจจุบันนี้อยู่พอสมควร

แหล่งที่มาของข้อมูล

https://en.wikipedia.org/wiki/%C4%80ryabha%E1%B9%ADa%27s_sine_table

https://en.dharmapedia.net/wiki/Indian_sine_tables

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

Julian Date หรรษา

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์