Way To Go 2024 For SaturnOwl

Way To Go 2024 For SaturnOwl 

 สวัสดีปีใหม่ 2567(2024) 
 ใครมันจะไปนึก จากที่โดนชีวิตเล่นงานจนตัดพ้อ ท้อแท้ จนถึงขั้นบอกว่า คงได้ปิดเพจ ปิดไซต์กันอีกในไม่ช้า เมื่อราว 6 เดือนก่อน 
 อยู่ดีๆ จากหนี้วิชาการตกค้าง ที่มาจากคัมภีร์สุริยยาตร์แค่เรื่องเดียว กลับทำให้ได้เนื้อหาลากยาวเป็นหางว่าว และตอนนี้ ก็ยังปิดกันไม่ลง จนจะข้ามปีกันอยู่แล้วนี่!!!! ดูแล้ว มันก็น่าตกใจอยู่เหมือนกัน ก็ไม่นึกไม่ฝัน ว่า ใต้พรมของเรื่องราวในสุริยยาตร์ มีอะไรที่ไม่น่าเชื่อ ซ่อนอยู่ในนั้นตั้งหลายอย่าง ก็ได้แต่นำเสนอออกไปในมุมของนักวิชาเกินสมัครเล่น ไปเสียก็แล้วกัน ปล่อยส่วนที่เป็นทางการให้นักวิชาการใหญ่เขาไปศึกษากันต่อเอาเอง 
แล้วเราจะทำอะไรกันต่อ 

 เรื่องราวสืบเนื่องจากค่าแก้มัธยมอาทิตย์ จันทร์ อุจจ์สุริยยาตร์ 
 สำหรับเรื่องราวสืบเนื่อง จะมีทั้งที่เป็นเกร็ด กรณีศึกษาคำนวณ ข้อข้องใจ หรือแม้แต่จะเป็นการคำนวณชี้วัดว่า อะไรเป็นอะไรแบบนี้ก็ได้ เช่นเดียวกัน มีทำๆไว้บางส่วนแล้ว หวังว่าจะไม่ใช่เรื่องสั้นขนาดยาว เช่นการหาค่าแก้เทศานตรผล มัธยมอาทิตย์ จันทร์ และอุจจ์ โดยเฉพาะมัธยมอุจจ์ ที่ยังทำไม่เสร็จและคงได้ปล่อยกันข้ามปีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (ทุกที จะเสร็จปีไหน ก็ปีนั้น ไม่ได้ลากยาวข้ามปีแบบนี้) 

ขยายความนำเรื่อง บทความสืบเนื่องจากค่าแก้มัธยมอาทิตย์ จันทร์ อุจจ์ 
เรื่องแรก เรื่องราวของ yojana หน่วยวัดแต่โบราณ ที่มีค่าแปรผันได้ตั้ง 3.3 – 16 กิโลเมตร ในบางแห่ง ได้ถึง 18 – 19 กิโลเมตรเลยก็มี ทำไมถึงเป็นแบบนั้น นั่นก็เพราะว่า เป็นค่าที่ขึ้นอยู่กับบริบท พื้นที่ ท้องถิ่น ก็แล้วแต่ว่าเป็นตำราในท้องถิ่นไหน และการกำหนดนิยามของผู้แต่งตำรานั้นๆ รวมถึงเรื่องข้อกำหนดของหน่วยวัดนั้นๆในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย 
ฉะนั้น หากอยากศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ในข้อมูลทางประวัติศาสตร์ จำเป็นที่จะต้องทราบถึงนิยามที่กำหนดขึ้นมาเป็นค่าของ yojana ว่ามีอะไรบ้าง จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิด และตีค่าในความเข้าใจตามความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง และต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า โยชน์อินเดีย ไม่เท่ากับ โยชน์ไทยและไม่เท่ากับ 16 กิโลเมตรเสมอไปด้วย 
เรื่องที่สอง หรคุณแฝง และการบังคับย้ายพิกัดเชิงเวลาจากหรคุณ 
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสุริยยาตร์โดยตรง เพราะเกี่ยวพันกันจากเรื่องของค่าแก้เทศานตรผล ด้วยความคิดมาก เกรงว่าจะมีคนนำค่าเทศานตรผลของกรุงเทพและโขงเจียมไปใช้งาน เลยทำให้ดูเสียเลยว่า หากใช้ไปแล้ว ผลที่ได้จะเป็นอย่างไร แล้วเราก็ได้พบเจอว่า มีหรคุณปริศนา กับการบังคับย้ายพิกัดโดยบังเอิญเชิง TimeZone จนทำให้ปัจจุบันนี้ ไม่จำเป็นต้องทำอะไรกับสุริยยาตร์อีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นค่าที่กลับมาอยู่ตรงจุดที่ควรเป็นตามนิยามของเขาแล้วนั่นคือ กรุงเทพฯ UTC+6:42 

 สิทธานตะและผองเพื่อน 
 ยังคงติดแหงกอยู่ที่สุริยุปราคาเหมือนเดิม ไม่ได้ทำอะไรเพิ่ม เพราะโดนชีวิตสู้กลับอยู่ คงต้องรออีกสักพัก ถึงจะเริ่มทำต่อได้ แต่ยังไงๆ มันคงต้องทำ เพราะก่อนหน้านั้นก็พอรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย บวกกับคุณภาพของเทคโนโลยีปัจจุบัน คิดว่า ศึกษาและทดลองทำไปอีกสักแปบ น่าจะพอทำได้บ้างแล้ว 

 วิธีการของ Loomis และตำราทำจันทรุปราคา-สุริยุปราคา 
 นี่ก็ยังติดแหงกที่เดิม เช่นเดียวกัน และอาจต้องพึ่งพาเทคโนโลยี(อีกแล้ว) ด้วยการฟื้นฟูวิชา Drawing อันเก่าแก่ของตนเองและเขียนแบบ computer (ร่ำเรียนมาด้วย AutoCad 2008) ไม่เช่นนั้น ก็คงทำการทดลองด้วยวิธีการทางกราฟไม่ได้ ส่วนวิธีเชิงคำนวณ เห็นคร่าวๆแล้ว 
แต่เนื่องจากโดนชีวิตสู้กลับอยู่ เลยทำอะไรยังไม่ค่อยถนัดนัก คงต้องรอกันไปก่อน 

 ว่าด้วยเรื่อง "หนี้ทางวิชาการ" 
 หนึ่ง สุริยุปราคาหว้ากอ ในเชิงการคำนวณด้วยสุริยสิทธานตะ เรื่องนี้ คงต้องรออีกพักใหญ่ๆ เลยล่ะนะ 
รอให้สำเร็จวิชาจากย่อหน้าโน้นก่อน แล้วค่อยว่ากัน งานละเอียด ต้องใช้เวลา 

 เรื่องของเทศานตรผล กับ ค่าปริศนา ในการทำมัธยมอาทิตย์กับมัธยมจันทร์ในสุริยยาตร์ 
 นี่ก็นึกไม่ถึงเหมือนกัน ว่าจากหัวข้อที่คิดว่า ไม่น่ามีอะไร กลับกลายเป็นว่า มีอะไรให้ได้ทำอีกหลายหลาก ยิ่งได้ทำ ได้ขุดคุ้ย เหมือนได้ศึกษาประวัติศาสตร์ และที่สำคัญ โชคดีที่ตัวเองเคยได้รับชม series อินเดีย สายเทพเจ้ามาเยอะ เลยพอปะติดปะต่อในเรื่องของสถานที่บูชา และความเชื่อของเทพเจ้าแต่ละองค์มาได้บ้าง และพอจะทำให้มองเห็นการอพยพของผู้คนว่า จากอินเดียมายังแดนดินสุวรรณภูมินี้ได้อย่างไร คือมีชนสองกลุ่มจากอินเดียอพยพมาอยู่กันที่นี่จริง พวกแรกมาอยู่พม่า มาก่อน อีกพวกค่อยอพยพตามมาทีหลัง แถวโซนภาคเหนือเรานี่แหละ แล้วก็จะมีอีกกลุ่มจากทางอินเดียใต้ มาประกบ ควบรวมอยู่ทางภาคกลาง เผลอๆจะมีลงใต้เสียด้วยซ้ำ แล้วก็ผสมๆปนเปกันกับเจ้าถิ่นที่อยู่ในบริเวณนี้อยู่แล้ว (อย่าลืมว่า มีคนอีกกลุ่มที่ตั้งรกรากอยู่ที่นี่แล้วแต่แรก และมีมาจากทางตอนใต้ของจีนอพยพมาอยู่รวมๆกันด้วย ก็คือเป็นเจ้าถิ่นในแถบนี้แหละ) และสุดท้ายทั้งหมดก็คือบรรพบุรุษของชาวเราในปัจจุบัน เลยไม่ค่อยแปลกใจเท่าใด ว่าทำไมอารยธรรมของอินเดีย ถึงได้มีอิทธิพลนักในแถบนี้ 
 สำหรับเรื่องของค่าปริศนา ได้ผลสรุปเชิงตัวเลขชี้ออกมาว่า เป็นจุดตั้งคำนวณมาแต่เมืองพุกาม อาณาจักรพุกามในพม่า เมื่อราวพันกว่าปีก่อน และขณะนี้ ได้ตามขุดคุ้ยไปจนถึงค่าแก้ของมัธยมอุจจ์แล้ว(คาดว่าจะปล่อยออกได้เร็วๆนี้)ซึ่งผลของการคุ้ยทำให้ได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ตามที่ได้ร่ายยาวไปข้างต้น รวมถึงรับทราบในความเชื่อและจากความเชื่อนำไปสู่การนำไปประยุกต์ใช้งานได้อีกด้วย 
 สำหรับเรื่องราวอื่นๆต่อเนื่องจากเรื่องนี้ คาดว่าจะมีให้เห็นในปีหน้า อีกประมาณสองสามเรื่อง น่าจะไม่ยาวมากนัก โปรดคอยติดตาม 
 สุดท้ายก็ขอกล่าวคำว่า สวัสดีปีใหม่ โชคดีมีชัย คิดหวังสิ่งใด สมปรารถนาทุกประการ 
 สวัสดี มกร สังกรานติ (สำหรับสายนะราศี เพราะในทางโหราศาสตร์สากล อาทิตย์ยกแล้ว 
ส่วนของนิรายนะรวมถึงสุริยยาตร์ ต้องรอหลัง15 มกรา โน่นล่ะ ถึงจะได้ยกกะเขา) 
 แล้วพบกันใหม่ สวัสดี.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

Julian Date หรรษา

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์