ประกาศอุปราคา 26 พฤษภาคม 2564

 ประกาศอุปราคา 26 พฤษภาคม 2564

 ประกาศผลการคำนวณอุปราคา จันทรุปราคา 26 พฤษภาคม 2564

ช่วงเวลาหลังอาทิตย์ตกเป็นต้นไป

คำนวณโดยใช้คัมภีร์สารัมภ์ พ่วงกับเทคนิคปรับปรุงผลลัพธ์

คำนำ

   ในปีนี้ แทบจะไม่ได้ขยับมาทำอะไรแบบนี้เลย ด้วยผลพวงจาก COVID-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว กระทบงานการทุกอย่างต่อเนื่องกันไปหมดเป็นลูกโซ่ เพราะโหลดงานเท่าเดิมแต่เวลาทำมันน้อยลง

  ปีนี้ จะมีปรากฎการณ์ฟ้าเกิดขึ้น 2 เหตุการณ์ ที่เห็นแน่ๆในบ้านเรา คือจันทรุปราคา แต่ว่าเห็นกันไม่ครบขั้นตอน แถมบางที่ก็อาจไม่ได้เห็นกันอีกต่างหาก คือจันทรุปราคา 26 พ.ค. 64 กับ 19 พ.ย. 64

   สำหรับ อุปราคาตัวนี้ จะเกิดในเวลาอันใกล้ คือในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้เอง

   ได้แต่หวังว่าฟ้าฝนจะเป็นใจ อย่าได้พลาดไปเหมือนช่วง super fullmoon ที่ผ่านมา ที่ล่อฟ้ามืดมิดไปสองวันติด
สายถ่ายดาวก็อดถ่ายภาพไปตามๆกัน

สำหรับตัวเลขและ รายละเอียดต่างๆ จะอยู่ในบทประกาศ ต่อจากนี้

ผลการคำนวณอุปราคา จันทรุปราคา 26 พฤษภาคม 2564

 ช่วงเวลาหลังอาทิตย์ตกเป็นต้นไป

คำนวณโดยใช้คัมภีร์สารัมภ์ พ่วงกับเทคนิคปรับปรุงผลลัพธ์ที่มีรายละเอียดตามนี้

1.การหาเวลาแรกจับและคลายออก โดยใช้วิธีพิจารณาจากทินาทอันเป็นส่วนครึ่งหนึ่งของทินประมาณพร้อมหาเวลากึ่งกลางคราสด้วยวิธีเฉลี่ย

2.การหาเวลาแรกจับและคลายออก โดยการคิดพลิกแพลงจากตำรา และยืนบนพื้นฐานนาฬิกา 24 ชั่วโมงพร้อมหาเวลากึ่งกลางคราสด้วยวิธีเฉลี่ย

3.การเลือกใช้เวลากึ่งกลางคราสตามที่หาได้ตามคัมภีร์ ซึ่งผลที่ได้นั้น ดูน่าสนใจมากทีเดียว

 ****************************************************************************** 

เริ่มกันที่เทคนิคแรก หาเวลาแรกจับและคลายออกจากทินาทพร้อมหาเวลากึ่งกลางคราสด้วยวิธีเฉลี่ย

ผลเป็นดังนี้

เวลาแรกจับ(เริ่มต้นจันทรุปราคาบางส่วน) เป็น 16:43:18 นาฬิกา เทียบกับที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยคำนวณไว้ คือ 16:44:57 นาฬิกา เร็วกว่ากันไป 00:01:39 นาที

เวลาคลายออกหรือเวลาปล่อย (สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน) เป็น 19:49:16 นาฬิกา เทียบกับที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยคำนวณไว้ คือ 19:52:25 นาฬิกา เร็วกว่ากันไป 00:03:09 นาที

สำหรับ เวลา ณ กึ่งกลางคราส หรือ ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดมากที่สุด เป็น 18:20:47 นาฬิกา เทียบกับที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยคำนวณไว้ คือ 18:18:41 นาฬิกา ช้ากว่ากันไป 00:02:06 นาที

*********************************************************************************

เทคนิคที่สอง หาเวลาแรกจับและคลายออกโดยการคิดพลิกแพลงจากตำรา และยืนบนพื้นฐานนาฬิกา 24 ชั่วโมงพร้อมหาเวลากึ่งกลางคราสด้วยวิธีเฉลี่ย

ผลเป็นดังนี้

เวลาแรกจับ(เริ่มต้นจันทรุปราคาบางส่วน) เป็น 16:47:43 นาฬิกา เทียบกับที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยคำนวณไว้ คือ 16:44:57 นาฬิกา ช้ากว่ากันไป 00:02:46 นาที

เวลาคลายออกหรือเวลาปล่อย (สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน) เป็น 19:57:27 นาฬิกา เทียบกับที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยคำนวณไว้ คือ 19:52:25 นาฬิกา ช้ากว่ากันไป 00:05:02 นาที

สำหรับ เวลา ณ กึ่งกลางคราส หรือ ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดมากที่สุด เป็น 18:18:05 นาฬิกา เทียบกับที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยคำนวณไว้ คือ 18:18:41 นาฬิกา เร็วกว่ากันไป 00:00:36 นาที

*********************************************************************************

เลือกหาเฉพาะเวลากึ่งกลางคราส โดยใช้ค่าปุรณมีที่คำนวณได้ตามตำรา

พบว่า เมื่อปรับทดเป็นเวลามาตรฐานแล้ว ค่าที่ได้คือ 18:18:48 ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้คำนวณเอาไว้ คือ 18:18:41 นาฬิกา ช้ากว่ากันไป 00:00:07 นาที

*********************************************************************************

จากค่าต่างๆที่หาได้ พบว่า การหาเวลาแรกจับและคลายออกโดยการคิดพลิกแพลงจากตำรา และยืนบนพื้นฐานนาฬิกา 24 ชั่วโมงพร้อมหาเวลากึ่งกลางคราสด้วยวิธีเฉลี่ยนั้น ให้ค่าที่ดูจะใกล้เคียงกับค่าที่ได้มาจากดาราศาสตร์พอสมควร ในมุมของค่าแรกจับและคลายออก แต่ยังคงช้าอยู่บ้าง
สำหรับเวลา ณ กึ่งกลางคราสนั้น กลับเร็วกว่ากันในระดับหลักสิบกว่าวินาที

ขณะที่ ค่าปรุณมี ซึ่งคำนวณได้จากสูตรในตำราโดยตรง เมื่อปรับเป็นเวลามาตรฐานและใช้เป็นเวลากึ่งกลางคราสแล้ว พบว่า มีความช้ากว่ากันไปแค่ 00:00:07 นาที เท่านั้นเอง

 *******************************************************************************

ส่งท้าย

สำหรับอุปราคารอบนี้ ในประเทศไทย น่าจะเห็นเป็นจันทรุปราคาบางส่วน หากดูจากเวลากึ่งกลางคราส เนื่องจากว่า ดวงจันทร์นั้นยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้า เพราะว่า เวลาจันทร์ขึ้นตามการระบุของดาราศาสตร์ คือตั้งแต่ 18:38 น. เป็นต้นไป ก็คงได้เห็นเป็นเฟสเต็มดวงแล้วกลับไปเป็นบางส่วน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ณ จุดสังเกตว่ามีอะไรบังอยู่หรือไม่ สำหรับที่ที่ผู้เขียนอยู่ คาดเดาได้ว่า น่าจะเป็นเฟสแบบบางส่วนให้ได้ดูได้ชมกันละ
อันเนื่องมาจากภูมิประเทศทางธรรมชาตินั้นอุดมไปด้วยแมกไม้และป่าเขา นั่นเองครับ
-_-‘

หลังจากนี้ไป ในเดือนพฤศจิกายน จะเกิดจันทรุปราคาขึ้นอีกครั้ง แต่บ้านเราในหลายภาคส่วนจะเห็นเพียงแค่เล็กน้อย เพราะหลังจากออกเงามืดแล้ว ก็จะกลายเป็นจันทรุปราคาเงามัวไปแทน
ไปว่ากันใหม่อีกที ตอนปี 2565 2568 2569 โน่นเลยล่ะครับ ท่านผู้ชม -*-

 ******************************************************************************

หมายเหตุการคำนวณ

สำหรับผลลัพธ์รวมไปถึงเทคนิคของการปรับปรุง มีการปรับเปลี่ยน และปรับปรุงไปในหลายจุด ทั้งยังพบด้วยว่า แต่ละเทคนิค ให้ผลลัพธ์เมื่อเทียบกับทางดาราศาสตร์แล้วไม่เท่ากันดูขาดๆ เกินๆ อยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการกำหนดค่าแก้ในแบบอนุมานอย่างมีหลักการ โดยที่ยังไม่ได้ไปแตะต้องแกนหลักในคัมภีร์ (เพราะไม่รู้ว่าต้นทางนั้น มากันได้ยังไง -_-‘)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

Julian Date หรรษา

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์