Way To Go 2022 For SaturnOwl

 Way To Go 2022 For SaturnOwl

หันกลับมามองดูในความเป็นไปของเพจ พร้อมทั้งความก้าวหน้าทางวิชาการของโลกและของบรรดาผองอินทรีทั้งมวลแล้วก็ได้แต่เฝ้าดูกันต่อไป แต่ขอพื้นที่ไว้ให้เพจเล็กๆนี้ บ้างก็แล้วกัน

จากเพจที่ริเริ่มทำเอามัน จากการตามหาปริศนา ณ หว้ากอ ว่าคิดกันมาได้อย่างไร สืบเสาะหาข้อมูลในบางส่วน และพบว่า บรรดาอินทรีและเหยี่ยวใหญ่ ก็สืบค้นตรงนี้ ไม่ต่างจากเรา แถมยังมีมุมมองของข้อมูลที่กว้างไกลกว่าเราเสียอีก ก็ได้แต่รับฟัง พิจารณาข้อมูลต่างๆที่มีเข้ามา จนที่สุด ก็เลยเลิกตามไป ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบรรดาอินทรีใหญ่เขาจัดการกันเอาเอง อย่างไรก็ดี บางทีเราก็อาจจะลองหาดูบ้าง แต่เป็นในแบบฉบับของเราเอง (ขอบคุณข้อมูลจากบรรดาอินทรีใหญ่ทั้งหลายเหล่านั้นไว้ด้วย ณ โอกาสนี้)

สำหรับปัจจุบันนี้ เพจนี้ ก็จะอยู่ในลักษณะ Hybrid-Technology คือ มีทั้งเก่า ใหม่ ผสมผสาน ล้อกันไปกับโลกเทคโนโลยีอันก้าวหน้า ณ ปัจจุบัน อันไหนที่พอจะใช้คอมพิวเตอร์กระทำการได้ ก็จะดึงตรรกะต่างๆไปใช้งานกันเป็นอะไรที่น่าสนุก โดยไม่แบ่งแยกแล้วว่า ต้องเป็นดาราศาสตร์โบราณแต่เพียงอย่างเดียว คือ วิชามันต้องมีชีวิต ถ้าใช้งานไม่ได้ ก็เป็นได้แค่อะไรที่วางอยู่บนหิ้ง คำนวณได้ ใช้งานเป็น มุ่งเน้นประมาณนี้

การปรับปรุงผลลัพธ์การคำนวณในคัมภีร์สารัมภ์

ในปี 2021 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ได้รับข้อมูลความรู้เปิดกว้างขึ้นมาก ในส่วนของเทคนิคปรับปรุงผลลัพธ์ของคัมภีร์สารัมภ์ได้ข้อมูลที่ช่วยอธิบายขยายความหลักคิดของเทคนิคนั้นได้ดีและเข้าใจ รวมถึงเข้ากันกับหลักวิชาได้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่อาศัยลูกมั่ว มวยวัดเข้าทำ เหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่ก็กลับกลายเป็นจุดสิ้นสุดของเทคนิคนี้ด้วยเช่นกัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว จากการศึกษาพบว่า ที่สุด มันก็ไปเข้าทางกับร่องรอยทางวิชาการของดาราศาสตร์อินเดียโบราณ จึงทำให้ตัดสินใจว่า เมื่อเป็นแบบนั้น ก็เปลี่ยนไปใช้งานในระบบ original กันเสียเลยน่าจะดีกว่า(เฉพาะในส่วนของคัมภีร์สารัมภ์นะครับ ส่วนสุริยยาตร์นั้น งานเขาดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมันนัก ที่นี่เองก็ยังคงใช้งานอยู่บ่อยๆ)

ก็คือ สรุปว่า จะลงหลักการของเทคนิคเอาไว้ว่า ใช้อะไรเป็นส่วนประกอบ และต่อจากนี้ไปจะเปลี่ยนเป็นระบบอะไรแทน มีแค่นั้น

วิธีการของ Loomis และตำราทำจันทรุปราคา-สุริยุปราคา

เป็นสองข้อมูลที่มาในเวลาไล่เลี่ยกัน เกิดขึ้นจากการตามหาข้อมูลเพิ่มเติมในหนังสือพระจอมเกล้าพยากรณ์ฯ โดยชื่อแรก ได้ยินได้ฟัง จากอินทรีใหญ่แห่งวงการสุริยยาตร์ กล่าวบรรยายที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติฯ(ผ่าน FacebookLive) ส่วนตำราทำจันทรุปราคา-สุริยุปราคา นี้เป็นสิ่งที่เก็บตกมาได้จากกลุ่ม ดาราศาสตร์+STEM อ่านไปแล้วแทบไม่น่าเชื่อว่า สิ่งๆนี้ ไปตกอยู่ในหมวดของปกิณกะจากรั้ววัง ทั้งที่ครั้งหนึ่ง น่าจะเคยเป็นหลักวิชาที่สำคัญในช่วงสมัยหนึ่งมาแล้ว โดยส่วนตัว สิ่งนี้จะขอลุยไปในต้นฉบับภาษาอังกฤษเลย ดูจะเข้าท่ากว่า หากพอรู้เรื่องแล้ว ค่อยวกกลับมาแปลเป็นไทย ให้อ่านได้เข้าใจดีอีกรอบก็ยังได้ (ตำราของเก่า แม้แต่อินทรีใหญ่ผู้ได้รับข้อมูลมาแต่แรก ก็ยังคงส่ายหัว บอกอ่านยากชิบ!!!)

สิทธานตะและผองเพื่อน

อย่างที่ได้แจ้งไปแต่แรก เมื่อแนวทางมันเข้าไปสู่ทางของ Original แล้ว เราก็คงจะต้องมุ่งไปในทางนั้น
อันที่จริง ที่นี่เคยเปิดหัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ แต่นานมากแล้ว สำหรับเรื่องของอหรคุณ แต่รอบนี้จะต้องไม่คิดให้ผิดพลาด เพราะผิดที ตายยกรัง เหมือนระบบดาราศาสตร์ยุคโบราณที่ผ่านมา ฉะนั้น จะทำการปรับจูนเข้าหา
JulianDate ไว้ก่อนเป็นหลัก หลังจากนั้นจะก้าวเข้าสู่เรื่องของการเปลี่ยนจากวันไปเป็นตำแหน่งดาว จากนั้น จึงค่อยนำพาไปสู่การคำนวณหาอุปราคาทั้งอาทิตย์และจันทร์เป็นอันจบ ซึ่งทั้งหมดจะใช้แนวทางของสุริยสิทธานตะก่อนเป็นอันดับแรก

สำหรับคัมภีร์สารัมภ์ มีผู้รู้ได้ค้นคว้าจนพบว่า วิธีการต่างๆในตำราสืบทอดมาจากวิธีการคำนวณของอารยภัฏ

แต่จากการค้นคว้าถึงข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า การคำนวณจากสุริยสิทธานตะหรือคัมภีร์ใดอื่น จะใช้วิธีการหรือขั้นตอนที่คำนวณออกมาในรูปแบบเดียวกันทั้งหมด จะมีจุดแตกต่างแค่เพียงเล็กน้อย เช่นต่างกันที่ค่าคงที่ประจำแต่ละจุดคำนวณที่คิดออกมาจากมหายุค เป็นต้น เว้นก็แต่บรรดาตำราชั้นหลังๆที่พยายามฉีกแนวไปใช้วิธีการคำนวณในรูปแบบอื่น นั่นทำให้เราสามารถทำการคำนวณในแบบของอารยภัฎได้ผ่านทางขั้นตอนและวิธีการของสุริยสิทธานตะ(และที่จริง ค่าที่มีอยู่ในวิธีการของอารยภัฎก็คือค่าคงที่เดิมที่เคยมีอยู่ในคัมภีร์สุริยสิทธานตะฉบับเก่าด้วย จึงไม่แปลกอะไรที่จะใช้ร่วมกันได้)

สิ่งนี้น่าจะเป็นคำตอบของวิธีการคำนวณในคัมภีร์สารัมภ์แล้วว่าเราจะใช้อะไรแทน

Modern Almagest และ Besselian Element

นอกเหนือจาก Astronomical Algorithm ของ Jean Meeus และ Practical Astronomy by Peter Duff Smidth แล้ว ก็มีเจ้าพวกนี้ ที่ต้องศึกษา โดยเฉพาะตัวหลัง ว่ากันว่า เป็นเครื่องมือชั้นยอดในการทำนายเส้นทางคราสทั้งจันทร์และอาทิตย์ แถมทำนายกันที ล่อกันเป็นศตวรรษได้เลยเชียวนะ ทำเป็นเล่นไป นี่ก็ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดอีกเหมือนกัน

สูตรคำนวณอุปราคาของ Practical Astronomy By Peter Duff Smidth

 เคยมีบางสูตรที่อยู่ในหนังสืออีกเล่มของเขา เขียนด้วยภาษา Basic พร้อมคำอธิบายกำกับด้วยรูปภาพชวนงง

นี่ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า มันคำนวณตำแหน่งตรงนั้นกันยังไง แต่ละคำอธิบายในภาพนั้นคือ ค่าอะไร สูตรของมันเป็นยังไงกันบ้าง ที่ต้องทำ เพราะว่า ผลที่ได้มาจากสูตรตัวนี้ มันมีความใกล้เคียงกับค่าที่ได้จากแหล่งข้อมูลทางดาราศาสตร์สากล อยู่พอสมควร จนถึงตอนนี้ นี่ก็ยังไม่ได้แตะอีกเช่นเคย

Astro Project

Section นี้ ค่อนข้างจะพิเศษ เนื่องจากเป็นการดึงเอาอดีตมาพบกับปัจจุบันในแง่ของเทคโนโลยีการเขียนโปรแกรม ซึ่งในปีที่แล้ว หากใครพอจะจำกันได้ จะเห็นในส่วนของเนื้อหา Full Moon ที่เริ่มมีเครื่องมือคำนวณปรากฏให้เห็น รวมไปถึงเรื่องของ Bug ต่างๆ (ที่เป็นของคู่กันกับการเขียนโปรแกรมอยู่แล้ว ตั้งแต่ไหนแต่ไร) ซึ่งโปรแกรมพวกนี้ ช่วยเหลือได้เยอะมากขึ้น ทั้งในแง่การทำ contents และเวลาในการคำนวณ

ในปีหน้านี้(2022) อาจจะได้เห็นโปรแกรมอะไรทำนองนี้ เพิ่มมากขึ้น แทนที่จะติดเกาะอยู่เฉพาะแต่โปรแกรม spreadsheet ยอดนิยมเพียงอย่างเดียว(ถ้าทำมันได้ทันนะ)

สรุปว่า ต่อจากนี้ไป เราจะใช้กันเพียงแค่นี้ หรืออาจจะไม่ใช้เลย คือ ย้อนกลับไปใช้วิธีการของดาราศาสตร์อินเดียแต่โบราณ สำหรับเรื่องของคัมภีร์สารัมภ์ ทั้งเรื่องการหา FullMoon และเรื่องของอุปราคา

พร้อมทำการศึกษาวิธีการของทางดาราศาสตร์สากลไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะเป็นสิ่งที่ใช้ๆกันอยู่แล้วในปัจจุบันนี้ ถือเป็น Hybrid Technology กันไป

ทั้งหมด คิดว่าน่าจะมีเพียงเท่านี้ ลาแล้วนะ สวัสดี.

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

Julian Date หรรษา

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์