ปริศนาสุริยยาตร์ ค่าแก้ไขในมัธยมอาทิตย์และจันทร์นั้นมาแต่ไหน บทนำ

 ปริศนาสุริยยาตร์ ค่าแก้ไขในมัธยมอาทิตย์และจันทร์นั้นมาแต่ไหน บทนำ

        สำหรับผู้ที่สนใจการคำนวณตามระบบคัมภีร์สุริยยาตร์ คงต้องคุ้นเคยหรือผ่านตากับค่าแก้สองค่าที่ต้องใช้

ในการคำนวณเพื่อทำมัธยมอาทิตย์และมัธยมจันทร์ อันได้แก่ ค่า 3 และ 40 ลิปดา เป็นแน่

แต่เคยนึกแปลกใจบ้างไหม ว่า ค่าสองตัวนี้มันมาจากไหน 

จริงๆแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นปริศนาลับที่ค่อนข้างดำมืดมานานทีเดียว 

เนื่องจากสืบเสาะหาที่มาของตำราไม่ได้แล้ว เพราะนานจัด 

(ตำรานี้ สืบอายุดูดีๆแล้ว กินระยะเวลาเลยหลักพันปีมาแล้ว การแก้ไขครั้งล่าสุด มีแค่ในสมัยของพญาลิไท

แห่งกรุงสุโขทัย เท่านั้นเอง เกณฑ์ที่เหลือทั้งหมด แทบไม่มีใครแตะต้องมันเลยทั้งหมด 

สังเกตได้จากเรื่องราวของท่านลาร์ ลูแบ ที่เคยนำตำราสุริยยาตร์ไปยังฝรั่งเศส 

ตำราเล่มนั้นกับตำราที่พบเห็นและใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้ แทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย) 

        เรื่องนี้เกิดมาจากความบังเอิญ มึนงง และเมาหมัด(อีกแล้ว) จากความสับสนของตัวหน่วยระหว่างองศากับ

ลิบดา ในระหว่างการคำนวณ เพื่อหาค่าคำตอบโดยใช้สูตรในคัมภีร์สุริยสิทธานตะ ผ่านโปรแกรม spreadsheet

ยอดนิยมช่วงระหว่างปี 2019-2020

        แรกเริ่มทีเดียว ตอนคำนวณได้ทำช่องบ่งชี้ไว้แล้ว ว่า ค่าตรงนี้เป็นองศานะ อีกช่องหนึ่งเป็นลิปดานะ 

แต่ก็เพราะเป็นคนอย่างเราๆท่านๆกันนี่แหละ ดังนั้น ก็ย่อมเกิดความผิดพลาดได้

        เรื่องของเรื่อง คือ คำนวณไปแล้วสักพัก รู้สึกได้ว่า คำตอบออกมา มันดูแปลกๆ เลยไล่ย้อนกลับไปยังต้นทาง

ถึงพบว่า จัดสูตรคำนวณลงไปผิดช่อง ผลที่ได้คือ ค่าที่ควรเป็นองศา กลับเอาลิปดาไปใส่แทน กว่าจะรู้ตัวอีกที 

ก็ตอนที่คำนวณกันไปจนแทบจะเรียกว่า หมดหน้าของ Sheet กันแล้ว!!!! ก็กุลีกุจอแก้ไขกันเดี๋ยวนั้น 

ก็ผ่านไป ไม่มีปัญหาอะไร

    หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไป ทิ้งช่วงไว้ก็นานโขพอสมควรเป็นจำนวนหลายเดือน เมื่อย้อนกลับมาทำงานคำนวณอะไร

บางอย่างสิ่งด้วยสูตรในคัมภีร์สุริยสิทธานตะกันต่อ 

พอพิจารณาดีๆแล้ว เลยเกิดคำถามว่า เอ๊ะ!!! นี่มันอะไรกัน!!!

    เพราะตัวเลขที่มาจากการคำนวณหา Desantara Corr. For Sun และ Desantara Corr. For Moon

(ก็ชุดที่แทนค่าลงไปผิดช่องนั่นแหละ) เมื่อนำมาคำนวณใหม่ในหน่วยลิปดา ดูดีๆ ก็พบว่า แลดูมันคุ้นๆตาชอบกล

ใช่แล้ว มันช่างดูคล้ายกับชุดค่าแก้มัธยมอาทิตย์และจันทร์ที่อยู่ในคัมภีร์สุริยยาตร์เหลือเกิน

    สำหรับตัวเลขค่าแก้มัธยมอาทิตย์และจันทร์ของสุริยยาตร์นั้น คือ 3 และ 40

เป็นตัวเลขที่มีผู้รู้ได้ให้ข้อสันนิษฐานเอาไว้ว่า น่าจะใช้ในการปรับแก้ เพื่อให้เหมาะสมกับภูมิภาคนี้

ส่วนตัวของค่าแก้ที่พบเจอในตอนแรกนั้น จะมีค่าเป็น -4 และ -54 สำหรับอาทิตย์และจันทร์ตามลำดับ

ซึ่งเจ้านี่คือค่าเทศานตรผลสำหรับกรุงเทพมหานคร(UTC+6:42) มองดูเผินๆ แล้ว 

ไม่น่าจะมีอะไรมาข้องเกี่ยวกับสุริยยาตร์ได้เลยใช่ไหม 

แต่จริงๆแล้ว กลับมีความเชื่อมโยงกันอย่างไม่น่าเชื่อจากหลักฐานเชิงตัวเลข

    สำหรับตำราสุริยยาตร์นี้ ในปัจจุบัน เราท่านทั้งหลายคงพอจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นตำราที่เราได้รับเข้ามา

ตั้งแต่ครั้งโบราณ ที่เมื่อสืบย้อนกลับขึ้นไปแล้วน่าจะเก่าแก่กว่าครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีกันเลยทีเดียว

    คำถามอยู่ตรงนี้ หากเป็นตำราที่เรารับนำเข้ามาแสดงว่า ตำรานี้ ต้องถูกปรับแต่งตัดทอนค่าบางอย่าง 

เพื่อให้สอดรับกันได้กับการคำนวณสำหรับภูมิภาคอุษาอาคเนย์ของเราแห่งนี้ เป็นแน่

    คำถามคือ ตำราดังกล่าวนี้ ใช้ที่ใด เป็นจุดคำนวณ เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าปรับแก้ไขดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ข้างต้น


    ในเบื้องต้นเริ่มแรก ผู้เขียนยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า จะใช้สิ่งใดเป็นจุดเริ่มต้น 

เพราะมีเพียงแค่ความรู้เรื่องของเทศานตรผล ที่ได้มาจากสุริยสิทธานตะ

และผลการคำนวณผ่าน spreadsheets ที่กระแทกตาอยู่แต่เพียงเท่านั้น 

ยังหาความเชื่อมโยงอันใดไม่ได้

    ขณะเดียวกันก็พบความจริงที่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า บรรดาตำราดาราศาสตร์โบราณในตระกูลสิทธานตะต่างๆ 

และตำราชื่ออื่นแต่ใช้แนวทางแบบเดียวกันกับสุริยสิทธานตะนี้ 

ล้วนแต่มีวิธีการคำนวณตามแนวทางที่เหมือนๆกันแทบทั้งสิ้น 

โดยพบว่า หนึ่งในขั้นตอนหลัก นั่นก็คือ การย้ายพิกัดคำนวณด้วยวิธีการที่เรียกว่า เทศานตรผล นั่นเองครับ

ด้วยเหตุนี้ ค่าเทศานตรผลที่คำนวณได้จึงสามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา 

(เฉพาะในอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบันนั้นทำไม่ได้แล้ว เพราะเหตุอันใด จะขออธิบายต่อในภายหลัง)

    ฉะนั้น จะขอใช้เรื่องของเทศานตรผลนี่แหละ ที่จะนำไปสู่การตามสืบเสาะหาข้อมูลในเชิงตัวเลข

เพื่อหาว่า สุดท้ายแล้ว ผู้นำตำรานี้เข้ามาใช้ในภูมิภาคแห่งนี้ ใช้ที่แห่งใด เป็นจุดคำนวณ

เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าปรับแก้ไขกันแน่

    อย่างไรก็ตาม ขอออกตัวก่อนว่า ทั้งหมดที่กำลังจะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงข้อคิดเห็นและการสันนิษฐานเชิงตัวเลข

 ผ่านข้อมูลทางประวัติศาสตร์เท่าที่มีระบุเป็นข้อมูลให้สืบค้นผ่านทางอินเตอร์เน็ตแต่เพียงเท่านั้น 

การนำไปใช้อ้างอิงใดๆ ขอให้ยกไว้ก่อน นำไปเป็นข้อคิดเห็นประกอบได้ 

แต่ควรตรวจสอบอีกครั้งให้แน่นอนจากทางผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า

    อันที่จริง ผู้เขียนเองเคยสืบเสาะตามหาเรื่องนี้มาอยู่พักใหญ่ แต่หลังจากที่ได้ทำการสืบค้นหามาสักระยะ 

ก็ยังคงไม่ได้ข้อสรุป และล้มเลิกไปเป็นปี จนกระทั่งหวนกลับมาประมวลผลใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 

ด้วยการวิเคราะห์บวกลองผิดลองถูกซ้ำไปมาอีกครั้งประกอบกับการไล่ล่าค้นหาชุดข้อมูลที่ตกหล่นและขาดหาย

อยู่นานนับเดือนหลังจากวันที่ 27 .. อยู่อีกนาน จึงถึงบางอ้อ 

(แต่ก็ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเชิงตัวเลขอยู่ แต่คาดว่า น่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่ท่านผู้รู้ในอดีตได้ทำเอาไว้นั่นแหละ)

ซึ่งเรื่องราวจะเป็นอย่างไร เดี๋ยวจะแจกแจงรายละเอียดให้ทราบ


อธิบายท้ายบท

หลายท่านอาจมีข้อโต้แย้งและสงสัย อ้าว เรากำลังพูดกันถึงคัมภีร์สุริยยาตร์อยู่ 

แล้วทำไมถึงไปใช้วิธีการของคัมภีร์อย่างสุริยสิทธานตะกันล่ะ

ควรต้องทราบก่อนว่า คัมภีร์สุริยยาตร์เป็นคัมภีร์นำเข้า สันนิษฐานว่ารับมาผ่านทางพม่าและมอญ

โดยที่พม่าและมอญรับตกทอดจากอินเดียมาอีกทอดหนึ่ง และจากการค้นคว้าหาข้อมูล 

พบว่า มีการผสมผสานกันระหว่างคัมภีร์สุริยสิทธานตะ คัมภีร์ขัณฑขาธยกะ(khandakhadyaka) 

ปัญจสิทธานธิกา และจากคัมภีร์อื่นๆและในทุกคัมภีร์ที่กล่าวมา 

พบว่า มีหนึ่งในขั้นตอนหลักของการคำนวณที่เหมือนกัน 

นั่นก็คือ การย้ายพิกัดคำนวณด้วยวิธีการที่เรียกว่า เทศานตรผล นั่นเอง

ดังนั้น ไม่ว่าคัมภีร์สุริยยาตร์จะถูกดัดแปลงมาจากคัมภีร์ใดก็ตาม 

อย่างไรเสียก็จะต้องใช้ขั้นตอนนี้ สำหรับใช้ในการย้ายพิกัดคำนวณอยู่ดี 

จึงไม่แปลกที่จะเห็นร่องรอยของการใช้งานค่าแก้แบบนี้ปรากฎตัวอยู่ในคัมภีร์สุริยยาตร์

ฉะนั้น เมื่อพบว่า คัมภีร์ตามที่กล่าวมาต่างก็ใช้วิธีการเดียวกันในการหาค่าของเทศานตรผล

ค่าเทศานตรผลที่คำนวณได้จึงสามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา

แต่ภายหลังจากนี้เป็นต้นไป เราพบว่า ค่าที่คำนวณได้มา จะไม่สามารถใช้งานได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

เหตุเพราะอะไรนั้น จะได้กล่าวถึงต่อไปในภายหลัง.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

Julian Date หรรษา

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์