ปริศนา “สารัมภ์” ตอน คตมาสเกณฑ์ 365 ปริศนาราศีเมษ[ตอนที่ 1]

ปริศนา “สารัมภ์” ตอน คตมาสเกณฑ์ 365 ปริศนาราศีเมษ[ตอนที่ 1]
ปัญหาสำคัญที่เป็นประเด็นหลักของหัวเรื่องนี้ นั่นคือ การคำนวณอุปราคาในกรณีที่เกิด ณ ราศีเมษ
ซึ่งพบว่า เมื่อเกิดอุปราคาในราศีเมษ ในการใช้มหาศักราชคำนวณหาอุณทิน เมื่อใช้ค่าคตมาสเกณฑ์ประจำราศีเมษ หากคำนวณด้วย วิธีการแบบเดียวกับที่ใช้ในราศีอื่นๆ กล่าวคือ นำค่าคตมาสเกณฑ์ประจำราศี บวกด้วยองศาอาทิตย์วันนั้น ในขั้นตอนสุดท้าย จะพบว่า ค่าอุณทินที่ได้ผิดไป ไม่ถูกต้องตรงกันกับอุณทินที่ได้มาจากการคำนวณด้วยเลขหรคุณอัตตา ณ วันนั้น
ตามที่ได้บอกไว้ แต่ตอนต้น เรื่องนี้ เพียงแต่เฉลียวใจนิดหนึ่ง เท่านั้นเองครับ คุณจะพบทางออก
เรื่องนี้ มีคำใบ้ นั่นคือ “1 ปีมี 365 วัน” และจากหลักนิยามพื้นฐานของ คัมภีร์สุริยยาตร์
มีคำใบ้เพิ่มให้อีกอย่างหนึ่งก็คือ วันสงกรานต์นั้น(มหาสงกรานต์) ถือเอา เมื่อ อาทิตย์ เข้าสู่ ราศีเมษ ณ 0 องศา 0 ลิปดา (จากการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์) เป็นกำหนดครบรอบ 1 ปี
ถ้าหากวิธีการใช้หรคุณอัตตา คิดการตัดรอบ 1 ปีจากการใช้วันเถลิงศก เป็นจุดครบรอบ
วิธีการหาอุณทิน จากการแปลงมหาศักราชเป็นทรุพ พร้อมทั้งการใช้ค่าคตมาสเกณฑ์ประจำราศีกับองศาอาทิตย์มาคำนวณร่วม ก็น่าจะคิดตัดรอบ 1 ปี โดยใช้การยกเข้าสู่ 0 องศาราศีเมษของอาทิตย์ เป็นจุดครบรอบ เช่นกัน
สำหรับคตมาสเกณฑ์ประจำราศีนั้น สันนิษฐานกันว่า เป็นเลขแสดงคาบการโคจรของอาทิตย์ในแต่ละราศี ซึ่งอยู่ในรูปแบบของจำนวนวันสะสม จุดที่น่าสังเกต ก็คือ จุดสุดท้ายของคตมาสเกณฑ์ ณ ราศีเมษ คือ 365 ซึ่งตรงกับจำนวนวันในรอบ 1 ปี(โดยประมาณ)
จากสมการหาอุณทิน
อุณทิน = ผลบวกฐานวันของทรุพ + 157 + ค่าคตมาสเกณฑ์ประจำราศี+ค่าองศาอาทิตย์โคจรอยู่ ณ ราศีนั้น
สำหรับราศีอื่น พบว่า การบวกค่าคตมาสเกณฑ์กับค่าองศาอาทิตย์ ให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง เนื่องมาจาก คตมาสเกณฑ์ที่อยู่ในราศีอื่นๆ จะเทียบได้กับจำนวนวันสะสมที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ เมื่อรวมเข้ากับค่าองศาอาทิตย์ ซึ่งตีความเทียบได้กับจำนวนวันที่ผ่านมาภายในราศีนั้น จะได้เป็นจำนวนวันสะสมรวมทั้งหมด ณ วันที่เกิดอุปราคา
แต่สำหรับราศีเมษนั้น ต่างออกไป เพราะในราศีเมษ ถือเอา 0 องศา เป็นจุดครบรอบ 1 ปี ซึ่งมีจำนวนวันสะสมอยู่ที่ 365 อยู่แล้วซึ่งถือเป็นคตมาสเกณฑ์
ดังนั้น ถ้ายึดจากแนวทางเดิมในราศีอื่นๆมาใช้ แปลว่า ต้องเอาจำนวนวันสะสม 1 รอบปีคือ 365 มา บวกเข้ากับค่าองศาอาทิตย์ ซึ่งเป็นจำนวนวันที่ผ่านมาภายในราศีนั้นไปด้วย ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ ไม่ว่าทำอย่างไร ก็จะไม่ถูกต้อง
เมื่อเป็นอย่างนั้น เราควรทำอย่างไร
แนวทางแรก
เพราะ 1 ปี มี 365 วัน ถ้าคิดย้อนหลังกลับไป 1 ปี แล้วคำนวณกลับมา คำตอบที่ได้พบว่า มีค่าเท่ากันกับวิธีการใช้เลขหรคุณ
แนวทางที่สอง
ก็เพราะ 1 ปีมี 365 วัน นั่นแหละ เมื่อครบรอบ 1 ปี ให้เริ่มต้นนับกันใหม่ ดังนั้น จำนวนวันสะสม(คาบการโคจร)จะยังไม่มี ก็ไม่ต้องคิด(หรือให้แทนที่ด้วยเลขศูนย์)หรือไม่ต้องแทนค่าคตมาสเกณฑ์เข้าไปหรือถ้าจำเป็นต้องแทนค่า ให้แทนด้วยเลขศูนย์แล้ว บวกแค่องศาอาทิตย์ในวันนั้นก็พอ นี่ก็พบว่า ได้ค่าที่เท่ากันกับวิธีการใช้เลขหรคุณ
จากแนวทางนี้ จะพบว่า ในคตมาสเกณฑ์ราศีเมษ มีตัวเลขพิเศษ ที่ซ่อนอยู่ ก็คือ เลขศูนย์ ซึ่งมีความหมายในตัวของมันเอง
เหตุผลของการมีเลขศูนย์ เกิดขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์ที่ว่า รอบเก่านัน จบไปแล้ว ส่วนรอบใหม่ ก็ยังไปไม่ครบ ด้วยสภาพแบบนี้ เมื่อไม่ครบรอบก็คิดคาบโคจรไม่ได้ จะยกทิ้งไปก่อนหรือแทนด้วยเลขศูนย์ในการคำนวณ ก็เหมือนกันนั่นเองครับ
สำหรับรอบเก่าที่ว่านี้ ก็คือ การครบรอบ 1 ปี(หรือ 365 วัน) นั่นเอง
เมื่อพิจารณาแล้วเป็นแบบนี้ จะได้ว่า ค่าคตมาสเกณฑ์ ณ ราศีเมษ จริงๆ มี 2 ค่า คือ 0 กับ 365 แต่ทั้งคู่ ใช้จุดอ้างอิงที่อยู่ร่วมกันคือ 0 องศาราศีเมษ
ถ้ากำหนดให้ การวนกลับมาสู่จุด 0 องศาราศีเมษอีกครั้ง(เดินไปครบ 360 องศา) ถือเป็น 1 รอบปี เราจะได้ว่า ณ จุด 360 องศา(ครบรอบ 0 อีกครั้ง) เป็นการคิดเทียบเท่ากับ 365 วัน ด้วย(ในแง่จำนวนเต็ม)
เมื่อจุด เริ่มต้นคาบปีใหม่กับจุดสิ้นสุดคาบรอบปีเก่า เป็นจุดเดียวกัน สิ่งที่ต่างกันคือการอ้างอิง กล่าวคือ จุดสิ้นสุดปีเก่า ใช้ในเรื่องของรอบปีเก่า ส่วนจุดเริ่มปีใหม่ก็คือ เริ่มต้นรอบใหม่กันไปเลย
นั่นคือ เมื่อครบรอบปีเก่า จุดครบรอบคือ 365 แล้วก็จบไป
ขณะเดียวกัน มื่อเริ่มต้นสู่การนับรอบโคจรใหม่ ให้ถือว่า เริ่มต้นนับกันตั้งแต่ 0 เป็นต้นไป
นี่เป็นความสัมพันธ์กันระหว่างคตมาสเกณฑ์จากตำรา คือ 365 กับ เกณฑ์พิเศษ คือ เลขศูนย์ ประการหนึ่ง
ถามต่อไปว่า ถ้านำมาใช้คำนวณ เราจะต้องใช้ค่าไหนกัน
คำตอบก็คือ ให้เราใช้ค่า 0 ในการคำนวณตลอดทั้งราศีเมษครับ เหตุผลมีอธิบายไว้ข้างต้นแล้ว ไม่อธิบายซ้ำ
สรุปอีกที ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เมื่อใดก็ตามที่เกิดอุปราคา ณ ราศีเมษ ไม่ว่าจะเป็นช่วงวันมหาสงกรานต์ (อาทิตย์ ยกสู่ 0 องศา 0 ลิปดาราศีเมษ) ระหว่างวันเถลิงศกหรือหลังวันเถลิงศก ไม่มีการใช้ค่าคตมาสเกณฑ์ 365 ทั้งหมด ในการคำนวณให้เปลี่ยนเลขเกณฑ์ 365 ที่จะใส่ลงในสมการไปเป็นเลขเกณฑ์พิเศษ คือเลขศูนย์แทน คำตอบที่ได้ จะถูกต้อง ตรงกันกับ วิธีการใช้ เลขหรคุณอัตตามาคำนวณ
อาจกล่าวได้ว่า คตมาสเกณฑ์ ของราศีเมษนั้น มีความซับซ้อนขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ในลักษณะที่เรียกว่า เส้นผมบังภูเขา ต้องอาศัยความเฉลียวใจนิดหนึ่ง จึงจะทราบ เพราะไม่มีบอกเอาไว้ในตำรา
เข้าใจว่า ในสมัยก่อน อาจารย์ที่สอนท่านอาจจะบอกกับผู้เรียนในลักษณะปากเปล่า หน้ากระดานด้วยแนวคิดแบบที่สันนิษฐานเอาไว้นี่แหละ เพียงแต่ไม่มีใครบันทึกลงในตำรา เพราะละไว้ในฐานที่เข้าใจ(-*-”) ระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน ก็เป็นได้
ยังไม่จบ เพราะต้องสรุป เงื่อนไขทั้งหมด ว่า เมื่อใด ถึงจะใช้วิธีการแบบนี้ได้ มาต่อกัน ตอนหน้าครับ.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

Julian Date หรรษา

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์