ปริศนา “สารัมภ์” ตอน คตมาสเกณฑ์ 365 ปริศนาราศีเมษ[ตอนที่ 2]

ปริศนา “สารัมภ์” ตอน คตมาสเกณฑ์ 365 ปริศนาราศีเมษ[ตอนที่ 2]
ในตอนนี้ เป็นตอนที่คิดว่า น่าจะเป็นบทสรุป ทั้งหมด ของการคลี่คลายปริศนา เกี่ยวกับการใช้คตมาสเกณฑ์ในวิธีหาอุณทินด้วยการแปลงเป็นมหาศักราช
บทสรุปของปัญหา คตมาสเกณฑ์ ณ ราศีเมษ
เมื่อเกิดอุปราคา ณ ราศีเมษ สำหรับการคำนวณหาอุณทินด้วยมหาศักราช ให้ใช้ค่าคตมาสเกณฑ์พิเศษคือ เลขศูนย์ เท่านั้น จึงจะได้คำตอบที่ถูกต้อง (เหตุผลมีอธิบายชี้แจงไว้แล้ว จากตอนก่อนหน้านี้) ส่วนใครที่อยากใช้ค่า 365 ให้คิดย้อนหลังกลับไป 1 ปี แล้วทำตามขั้นตอนเดิม ก็จะได้คำตอบที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน
เมื่อใด ที่เกิดเหตุการณ์นี้
เหตุการณ์นี้ จะเกิด เมื่อพบว่า มีราหูสถิตอยู่ ณ ราศีเมษ หรือราศีตุล เท่านั้น ถ้าเป็นอุปราคาในเดือนเมษายน แต่ราหูอยู่ ณ ราศีอื่น ไม่จำเป็นต้องคิดมาก ใช้ค่าคตมาสเกณฑ์ตามราศีนั้นไปตามปกติ
ข้อสำคัญคือ อาทิตย์จะต้องอยู่ ณ ราศีเมษ จึงจะเริ่มใช้ค่าคตมาสเกณฑ์พิเศษนี้ได้ ถ้าไม่อยู่ในราศีเมษ ไม่ต้องใช้อีกเหมือนกัน
เกณฑ์การใช้งาน ณ ราศีเมษ สำหรับวิธีการหาอุณทินจากการแปลงเป็นมหาศักราช เพื่อนำไปคำนวณอุปราคา
ถ้าราหูไม่อยู่ เมษ ตุล ไม่ต้องใช้คตมาสเกณฑ์พิเศษนี้
กรณีเกิดอุปราคา ณ เดือนเมษายน ให้พิจารณาองศาอาทิตย์และตำแหน่งราศีที่อาทิตย์สถิตพร้อมกับตำแหน่งราหู
ถ้าราหูไม่อยู่ เมษ ตุล ตัดไปเลย คิดตามคตมาสเกณฑ์ที่อาทิตย์สถิต
ถ้าราหูอยู่ เมษ ตุล ดูวันที่เกิดอุปราคา
โดย ถ้าวันที่เกิดอุปราคาอยู่ในช่วงก่อนวันมหาสงกรานต์ คิดตามคตมาสเกณฑ์ที่อาทิตย์สถิต
ถ้าวันที่เกิดอุปราคาเกิดอยู่ในช่วงตั้งแต่วันมหาสงกรานต์เป็นต้นไป ใช้คตมาสเกณฑ์พิเศษคือ
0
สรุปอีกครั้ง ก็คือ เมื่อใดก็ตามที่เกิดอุปราคา ณ ราศีเมษ ไม่มีการใช้ค่าคตมาสเกณฑ์ 365 ทั้งหมด ในการคำนวณให้เปลี่ยนเลขเกณฑ์ 365 ที่จะใส่ในสมการไปเป็นเลขเกณฑ์พิเศษ คือเลขศูนย์แทน คำตอบที่ได้ จะถูกต้อง ตรงกันกับ วิธีการใช้ เลขหรคุณอัตตามาคำนวณ

รูปต่อไปนี้ เป็นรูปภาพที่น่าจะสรุปเกี่ยวกับข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ในการหาอุณทินจากการแปลงเป็นมหาศักราช


ขอบคุณสำหรับฟอนต์ไทยสวยๆ ฟอนต์ที่เห็นในภาพ ชื่อ TH Charm Of AU หาโหลดได้เลยในอินเตอร์เน็ต ของฟรีและดี ก็มีนะครับ (อันนี้ ได้มาจากเวบ font.com)

ในรูปประกอบไปด้วย ค่าคตมาสเกณฑ์ทั้งหมด 12 ราศี ซี่งเป็นคาบการโคจรประจำราศีต่างๆของอาทิตย์แต่ลักษณะการวาง จะวางบนจุด ไม่ได้วางบนช่องเหมือนในแผนผังดวงที่เราคุ้นเคยครับ สำหรับทุกช่องนั้น แบ่งเป็นช่องละ 30 องศาเท่าๆกัน (ตรงนี้ มาจากนิยามในการแบ่งขอบเขตของราศีแต่ละราศีบนท้องฟ้า โดยกำหนดให้ทุกราศีมีช่องกว้างที่ 30 องศา โดยเฉลี่ย )
ณ จุด 0 องศาราศีเมษ มีเลข 0 360 365 กำกับอยู่
คำอธิบายก็คือ เพราะว่า มันเป็นการหมุนครบรอบ แบบวงกลม หากยังจำกันได้ สำหรับวิชาเรขาคณิต จุด 0 องศา กับ จุด 360 องศา ถือว่า เป็นจุดเดียวกัน นั่นคือ การกลับมาครบรอบที่เดิม
เดี๋ยวก่อน แล้วมันเกี่ยวอะไร กับ เลข 365
ก็เกี่ยวข้องกัน ในฐานะ จุดเปรียบเทียบไงล่ะ
ถ้ากำหนดให้ การวนกลับมาสู่จุด 0 องศาราศีเมษอีกครั้ง(เดินไปครบ 360 องศา) ถือเป็น 1 รอบปี เราจะได้ว่า ณ จุด 360 องศา(ครบรอบ 0 อีกครั้ง) มีค่าเทียบเท่ากับ 365 วัน ด้วย(ในแง่จำนวนเต็ม)
เมื่อจุด เริ่มต้นคาบปีใหม่กับจุดสิ้นสุดคาบรอบปีเก่า เป็นจุดเดียวกัน จะได้ว่า
เมื่อครบรอบปีเก่า จุดครบรอบคือ 365 แล้วก็จบไป
ขณะเดียวกัน เมื่อเริ่มการนับรอบโคจรใหม่ ให้ถือว่า เริ่มต้นนับกันตั้งแต่ 0 เป็นต้นไป
นี่เป็นความสัมพันธ์กันระหว่างคตมาสเกณฑ์จากตำรา คือ 365 กับ เกณฑ์พิเศษ คือ เลขศูนย์ ประการหนึ่ง
จากรูป มีอะไรให้สังเกตอีกอย่าง นั่นคือ คาบการโคจรถ้านับออกจากราศีเมษ จะพบว่าไม่มี การเริ่มค่าคตมาสเกณฑ์กันใหม่ จะไปเริ่มที่ราศีพฤษภเลย
คราวนี้ อะไรล่ะ ที่แทนความหมายว่า ไม่มีและ ไม่คิด ก็เจ้าเลขศูนย์ นั่นไงครับ
เพราะอย่างนั้น เราจึงได้เลขคตมาสเกณฑ์พิเศษสำหรับราศีเมษ นั่นคือ เลขศูนย์ มาด้วย(อยู่ที่จุดเดียวกับ 365 นั่นแหละ)
เหตุผลของการมีเลขศูนย์ เกิดขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์ที่ว่า รอบเก่านัน จบไปแล้ว ส่วนรอบใหม่ ก็ยังไปไม่ครบ ด้วยสภาพแบบนี้ เมื่อไม่ครบรอบก็คิดคาบโคจรไม่ได้ จะยกทิ้งไปก่อนหรือแทนด้วยเลขศูนย์ในการคำนวณ ก็เหมือนกันนั่นเองครับ
รูปนี้ ไม่ได้แสดงจุดเถลิงศกเอาไว้ เพราะไม่เกี่ยว แต่ก็เขียนบอกไว้ถึงความแตกต่างระหว่างการนับคาบโคจรกับการนับวัน ซึ่งใช้จุดครบรอบอ้างอิงที่ต่างกัน
ในแง่ของจำนวนวันสะสม (คาบโคจร) สำหรับราศีเมษ ที่กล่าวว่า ไม่มีนั้น เป็นเพราะ เมื่อเริ่มต้นนับรอบการโคจร ในรอบใหม่ของปี คาบโคจรที่ได้นั้น ยังไปไม่ครบรอบที่ราศีพฤษภ สิ่งที่ได้จะมีเพียงจำนวนวันที่เดินไปเรื่อยๆตามค่าองศาอาทิตย์ จนกว่าจะไปครบรอบคาบการโคจร ณ ราศีพฤษภ ทำให้ไม่จำเป็นต้องคิดค่าคตมาสเกณฑ์อีกต่อไป หรือกำหนดให้ค่าคตมาสเกณฑ์หลังผ่านจุด0 องศาราศีเมษ ไปแล้ว มีค่าเท่ากับ ศูนย์ไปเลย แล้วค่อยไปเริ่มใช้ค่าคตมาสเกณฑ์กันใหม่ เมื่ออาทิตย์เข้าสู่ราศีพฤภ ก็ได้ครับ
หรือ ถ้าคิดย้อนกลับง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในราศีเมษ เมื่อนับค่าคาบการโคจรของอาทิตย์จากจุด0องศาราศีเมษ จะคิดได้กี่วัน
คำตอบที่ได้รับคือ 0 ครับ ไม่ใช่ 365
เหตุของเรื่องนี้ เกิดจากคำใบ้ ในตอนก่อนๆนั่นแหละ โดยในการนับคาบโคจรจะเริ่มนับตั้งต้นออกจากจุด0 องศาราศีเมษ ในกรณีของราศีเมษ มีการครบรอบ365 วันไปแล้ว ณ จุดมหาสงกรานต์ แต่ หลังจากวันมหาสงกรานต์เป็นต้นไป คาบนั้น ถูกตัดเป็นศูนย์ครับ เพราะจะไปรอขึ้นคาบในรอบใหม่ ณ ราศีพฤกษภที่ 31 วัน นับจากจุด0องศาราศีเมษแทน
ดังนั้น คตมาสเกณฑ์ที่ได้หลังผ่านจุด 0 องศาราศีเมษ ออกมา จึงมีค่าของคาบเท่ากับ 0 ครับ พูดง่ายๆคือ ไม่นับคาบเพราะผ่านจุด0 องศาราศีเมษไปแล้ว แต่ยังไม่ครบรอบใหม่ นั่นเอง

เป็นอันว่า จบ ในส่วนของปริศนาที่ค้างคาใจมานานถึงสองปี!!! แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะ นี่เป็นเพียงแค่ จุดเริ่มต้นของการคำนวณหาอุปราคา ตามระเบียบวิธีในคัมภีร์สารัมภ์ เท่านั้นเอง มีอะไรรออยู่อีกเยอะ -*-' สำหรับตอนนี้ พอแค่นี้ สวัสดี.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

Julian Date หรรษา

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์