ปริศนา “สารัมภ์” ตอน เริ่มต้น กับ บรรทัดที่หายไป

ปริศนา “สารัมภ์” ตอน เริ่มต้น กับ บรรทัดที่หายไป
      เคยบ้างไหมครับ กับการทำอะไรสักอย่าง ตามวิธีการที่มีคนอธิบายไว้ แล้วตรวจพบในภายหลังว่า วิธีการที่ว่านั่น ได้ข้อมูลมาไม่ครบ !!!!
     ว่ากันว่า ประวัติศาสตร์ เรื่องราว หรือว่า หลักวิชาต่างๆ ในอดีต มักจะขาดหายไปอยู่ส่วนหนึ่งเสมอ สิ่งที่ถูกตั้งเป็นข้อสันนิษฐานเป็นประจำ ก็คือ การจดบันทึกหรือการคัดลอกตำรา ที่ตกหล่น
    นับว่า โชคดี ที่อยู่ในยุคปัจจุบัน ที่ข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ท่วมท้น จนคนต้องคัดกรอง!!!
เพราะจะมีข้อมูล จากที่หนึ่ง และ อีกที่หนึ่ง ตลอดเวลา คุณสามารถค้นหาอะไรก็ได้จากบรรดาเวบไซต์ จำนวนมากมาย (เท่าที่จะมีคนเอาข้อมูลขึ้นไปให้ครับ เพราะถ้าไม่มีอยู่เลย มันก็ต้องทำเอาเอง แบบเดียวกับที่ผมทำนี่แหละ)
     ทำให้เรา สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ตลอดเวลา ว่า ตรงไหน ครบ ตรงไหน ขาด เพียงแต่ต้องใช้วิจารณญาณกันสักหน่อย ในการผสมผสาน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่คัดกรองแล้ว อย่างถูกต้อง
     สิ่งสำคัญต่อไปจากนี้ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องออกไปให้มากที่สุด
     สำหรับผมเอง ได้เจอเข้ากับตัวโดยตรง เกี่ยวกับเรื่องความผิดพลาดของการคัดลอกตำรา เพราะข้อมูลที่ใช้ไปดึงมาจากหน้าเว็บไซต์ ซึ่งภายหลัง ตรวจเช็คกับตำราเดียวกันที่ได้มาจากอีกที่หนึ่ง ถึงรู้ว่า เขาคัดลอกมาผิด หายไปหนึ่งประโยคเต็มๆ และส่วนที่หายไปเป็นจุดที่อยู่ในขั้นตอนแรกของการทำ ค่าเริ่มต้นที่สำคัญมากๆเพราะเป็นค่าตั้งต้น สำหรับการคำนวณอุปราคาทั้งระบบครับ แม้จะเป็นเพียงแค่ หนึ่งในสอง วิธีการของการทำค่าเริ่มต้นก็ตาม ถึงอย่างไรก็ถือว่า สำคัญอยู่ดี ในแง่ของข้อมูล สำหรับเริ่มต้น การคำนวณ
     ดังนั้น เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ในแง่ของข้อมูล ที่ว่า
     ขอยกเอา ส่วนหนึ่งของ บทเริ่มต้นในการคำนวณของตำราหรือว่า คัมภีร์สารัมภ์ ฉบับ อ.หลวงวิศาลดรุณกร จาก ฉบับที่เป็น เอกสาร pdf มาแสดงไว้ ดังนี้
() สิทธิการิย ผิวจะคำนวณสารัมภ์รามัญศาสตร์ ให้ตั้งจุลศักราชปีที่จะทำนั้นลง เอา 560 บวก ผลลัพธ์เป็นมหาศักราช แล้วให้เอา 1065 มาลบมหาศักราช ผลลัพธ์เป็นทรุพแล
ให้ตั้งทรุพลง 4 ฐาน ฐานบนเอา 365 คูณ ผลลัพธ์เป็นวัน ฐานที่ 2 เอา 15 คูณ ผลลัพธ์เป็นมหานาฑี ฐานที่ 3 เอา 31 คูณ ผลลัพธ์เป็นเพ็ชนาฑี (มหาวินาฑี) ฐานที่ 4 เอา 30 คูณ ผลลัพธ์เป็นพลอักษร แล้วเอา 60หารฐานพลอักษร มีเศษให้ดูอัฑฒาธิกรรม ลัพธ์เอาไปบวกฐานมหาวินาที แล้วเอา 60 หาร ผลลัพธ์บวกฐานมหานาฑี แล้วเอา 60 หาร ผลลัพธ์เป็นวัน แล้วให้เอาผลลัพธ์ไปบวกกับจำนวนวันฐานบนนั้น (ตัวเลขที่เอามาคูณนั้น คือ อัตราเวลา 1 ปีเต็ม) แล้วให้เอา 157 นี้บวกด้วยจำนวนวันนั้นอีกเล่า แล้วให้เอาเกณฑ์ คตมาส คือพระอาทิตย์โคจรอยู่ราศีใดให้เอาเกณฑ์ในราศีนั้นบวก (นี้เกณฑ์คตมาส ราศีเมษ 365 พฤษภ 31 เมถุน 62 กรกฏ 95 สิงห์ 125 กันย์ 156 ตุล 187 พฤศจิก 217 ธนู 246 มังกร 276 กุมภ์ 305 มีน 335) แล้วเอาองศาพระอาทิตย์ที่โคจรอยู่ในราศีนั้นบวกอีกเล่า ได้ผลลัพธ์เป็นอุณทินให้ตราไว้
(1) ถ้าจะใช้จุลศักราชคำนวณสารัมภ์ ท่านให้ตั้งหรคุณวันนั้นลง (คือ หรคุณอัตตาเถลิงศกปีที่ทำนั้นบวกกับสุทินประสงค์) แล้วเอา 184298 ลบ ผลลัพธ์เป็นอุณทินตราไว้
     ที่ทำตัวหนา และขีดเส้นใต้เอาไว้ นั่นคือ ประโยคที่ขาดหายไปในฉบับเวบไซต์ แต่มีอยู่ในฉบับเต็มที่เป็นเอกสาร แบบ pdf ซึ่งถือว่า ขาดหายไปในขั้นตอนที่สำคัญ สำหรับ เริ่มต้น การคำนวณ แม้จะมีวิธีการที่สอง ไว้ รองรับก็ตามที แต่อาจทำให้มีคำถาม และ ข้อสงสัย ตามมาในภายหลังได้ว่า ทำไม ค่าที่ได้ถึงไม่เท่ากัน แบบเดียวกับที่ผมเคยเจอมาแล้ว
      แต่ที่แย่หน่อย สำหรับผม ก็คือ แม้จะได้ชุดของวิธีการที่ถูกต้องมาแล้ว แต่ค่าที่ได้ในการคำนวณในครั้งแรกเริ่มของผมก็ยังไม่ถูกอยู่ดี!!!! จุดตรงนี้แหละ ที่เป็นผลให้เกิดเป็นบทความในชุดถัดไป ซึ่งเป็นคำตอบของปัญหาที่ค้างคาใจผม มากว่า 2 ปี ได้สำเร็จ!!! 
     ทิ้งท้ายไว้ง่ายๆ ด้วยคำว่า เพียงแค่เฉลียวใจนิดหนึ่ง แค่นั้น !!!! จบครับ .

หมายเหตุ
     สำหรับ ชื่อของค่าที่ใช้สำหรับเตรียมการนั้น ใน ตำราของ อ.หลวงวิศาลดรุณกร ท่านเรียกว่า อุณทิน แล้วนำค่า อุณทิน ไปลบ 1 ซึ่งตลอดทั้งตำรา ท่านจะใช้ค่า อุณทิน-1 นี้ ในการคำนวณ ครับ
ขณะที่ อีกตำราหนึ่ง ซึ่งเป็นของ อ.หลวงพรหมโยธี ท่านเรียกค่าการนับวันแบบนี้ ว่า ปุณทิน แล้วค่อยนำ ปุณทินไป ลบ 1 แล้ว ให้ชื่อใหม่ว่า อุณทิน โดยจะใช้ค่านี้ ตลอดทั้งตำรา เช่นกันครับ
จริงๆแล้ว คำสองคำนี้ คือ เลขชุดเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่สองตำรา เรียกชื่อไม่เหมือนกัน แค่นั้นเอง
    ในที่นี้ ขอใช้ ปุณทิน แทน คำว่า อุณทิน ซึ่งเป็นค่าที่ได้จากการนับวัน ด้วยวิธีการในตำราสารัมภ์ของ อ.หลวงวิศาลดรุณกร และ จะใช้ อุณทิน แทนค่า อุณทิน -1 เพื่อความสะดวก ในการอธิบาย
สำหรับใครที่ยัง งง ๆอยู่ อธิบายเป็นสัญลักษณ์ แบบนี้ก็แล้วกัน
    ปุณทิน(.หลวงพรหมโยธี) = อุณทิน (.หลวงวิศาลดรุณกร)
    อุณทิน(.หลวงพรหมโยธี) = อุณทิน-1 (.หลวงวิศาลดรุณกร)

   ในบรรทัดที่ขาดหายไปนี้ มี
คำว่า อัฑฒาธิกรรม อยู่ซึ่งคำนี้ ได้ไปปรากฎอยู่ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ด้วย
!!!
  คำนี้ หมายความว่า อย่างไร
  นิยามของคำนี้ ก็คือ เมื่อเราทำการหารจำนวนแล้ว มีเศษ ให้ดูว่า เศษที่ได้นั้น มีค่าถึง ครึ่งหนึ่งของตัวหารแล้วหรือยัง ถ้าเท่ากับหรือว่า เกินกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว ให้เอาหนึ่ง บวกเข้าไปที่ผลลัพธ์
  พูดง่ายๆ ให้นึกถึงการหารในปัจจุบันครับ ที่หารกันแล้ว เจอจุดทศนิยม กรณี ถ้าเกินกว่า 0.5 ให้ปัดขึ้นไป 1 แต่ถ้าต่ำกว่า 0.5 ปัดทิ้งไป ตรงนี้ เป็นแนวคิดเดียวกัน
  อีกอย่างหนึ่งที่ต้องอธิบายนั่นคือ ทั้งในคัมภีร์สุริยยาตร์และคัมภีร์สารัมภ์นั้น จะใช้การหารในลักษณะ ที่มีผลหารและเศษ เป็นจำนวนเต็ม เท่านั้น ไม่มีการคิดเป็นจุดทศนิยม โดยเด็ดขาด และไม่มีการทอนเศษส่วนด้วยนะครับ (จุดนี้ ผมพลาดมาแล้ว ได้เศษมาเท่าไหร่ ส่งต่อไปเท่านั้นเลยนะครับ ถ้าไม่ได้ใช้ก็ทิ้งค่านั้นไป แค่นั้นเอง)
  โดยจำนวนเต็มที่ได้ หรือ ผลหาร จะเรียกว่า ผลลัพธ์ หรือ ลัพธ์ ส่วน เศษที่เหลือจากการหาร เรียกว่า เศษ จุดนี้ ให้ระวังว่า จะเกิดความสับสน เพราะการลบตัวเลข ในตำราเก่าๆ มักจะเรียกผลที่ได้จากการลบ ว่า เศษ ด้วยเช่นกัน ฉะนั้น เวลาอ่าน ต้องดูทั้งปริบท ว่า นั่น หมายถึงการลบ หรือหมายถึงการหาร !!! (นี่ก็พลาดมาอีกเหมือนกัน เลยนำมาบอกต่อ)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Julian Date หรรษา

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์