กรณีศึกษา การคำนวณจันทรุปราคาด้วยคัมภีร์สารัมภ์ [ตอนที่ 1]

กรณีศึกษา การคำนวณจันทรุปราคาด้วยคัมภีร์สารัมภ์ [ตอนที่ 1]  
ตัวอย่างการคำนวณจันทรุปราคาด้วยคัมภีร์สารัมภ์ จันทรุปราคา 4 เมษายน 2558
 
ว่ากันว่า การศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ควรที่จะลงมือทำมันเสีย ฉะนั้น เราจึงไม่รอช้า ที่จะนำเสนอออกมาเลย
กับ กรณีศึกษา การทดสอบ ผลลัพธ์ที่ได้จากตัวคัมภีร์ (ตำรา) ว่า มีค่าเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับ ค่าที่คำนวณได้ ณ ปัจจุบัน
โดยตัวอย่างที่จะใช้ ก็เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ ประมาณ 2 ปีเท่านั้นเอง คือ จันทรุปราคา ปี 2558 วันที่ 4 เมษายน
สำหรับ จันทรุปราคา 4 เมษายน 2558 นี้ ได้เคยนำเสนอวิธีการหาค่าเริ่มต้น ที่ชื่อว่า อุณทิน ไว้ เรียบร้อยแล้ว จึงไม่ขออธิบายซ้ำอีก
สำหรับผล ที่คำนวณได้ สำหรับค่าเริ่มต้นหรืออุณทิน เราจะได้ค่าเริ่มต้นออกมาเป็น 318652
ในตำรา มีจุดให้ตรวจสอบ วันที่เกิดเหตุตั้งแต่ต้น เพื่อความแน่ใจว่า เป็นวันที่เกิดอุปราคาจริงๆ
โดยใช้วิธีการคือ นำอุณทินที่คำนวณได้ มาหารด้วย 7 เศษการหารที่ได้ นำไปบวกกับ 2
ค่าที่ได้คือ วันที่จะเกิด ซึ่งตัวเลขนี้ จะแทน ลำดับของวันในรอบสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ 1 วันอาทิตย์ ไปจนจบที่ 7 วันเสาร์ (หมายเหตุ ถ้าหาร 7 ลงตัว เศษ เท่ากับ 0 วันที่เกิดจะเป็นวันอังคาร เศษ 6 จะเป็น วันจันทร์
ดังนั้น ในที่นี้จะได้ 318652/7 = 45521 เศษ 5 เอา 5+2 = 7 เป็น วันเสาร์ ซึ่งถูกต้อง

จาก อุณทิน = 318652
ขั้นตอนต่อไปของการคำนวณ คือ การหาค่า พล ของ 4 วัตถุ ที่ระบุไว้ ในตำราคือ อาทิตย์ จันทร์ อุจจ์ และ ราหู
ซึ่งจริงๆแล้วก็คือ การหาค่าของการโคจร ณ วันที่เกิดอุปราคาของทั้ง 4 วัตถุนี้ ในทางดาราศาสตร์ปัจจุบัน นั่นเอง
(หมายเหตุ สำหรับ ศัพท์เทคนิค ที่ใช้ ซึ่งปรากฎในคัมภีร์นี้ ขอยกไว้ก่อน ค่อยอธิบายในภายหลัง)
โดยวิธีการคำนวณ เราเริ่มต้นจาก การคิดอุณทินถอยหลังกลับไป 1 วัน (เท่ากับ อุณทิน-1 นั่นเอง)
จากนั้น นำ ค่า อุณทิน-1 นี้ ไปหา ค่าการโคจรของแต่ละวัตถุ(ค่าพล) ด้วยการคูณกับ ค่าคงที่ 4 ค่าต่อไปนี้
หาพลอาทิตย์ คูณด้วย 591361716
หาพลจันทร์ คูณด้วย 7905810032
หาพลอุจจ์ คูณด้วย 66818670
หาพลราหู คูณด้วย 31800373
สำหรับผลลัพธ์ที่ได้ทั้งสี่ค่า หลังจากการคูณเรียบร้อยแล้ว ตามตำรากล่าวว่า ให้ทำแบบนี้

ให้นับถอยหลังขึ้นมาหาตัวต้น ถึงผลลัพธ์ตัวที่ ๗ แล้วให้กาไว้ แล้วให้ลบเสียทั้ง ๗ ตัว นั้นเถิด แต่ให้ลบถอยหลังขึ้นมาจนถึงตัวที่ ๖ ก่อน แล้วดูตัวที่ ๗ ที่กาไว้และจะลบต่อไปนั้น ถ้าเป็น ๐, ๑, ๒, ๓, ๔ ไม่ต้องเอา ๑ บวก ถ้าเป็น ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ให้เอา ๑ บวก ที่เลขตัวสุดท้ายของจำนวนที่ไม่ลบนั้น เรียกว่า อัฑฒาธิกรรม
แปลทั้งประโยค กลับมาเป็นภาษาที่เข้าใจได้ในปัจจุบัน อธิบายเป็นดังนี้
ให้พิจารณาผลลัพธ์ นับจากหลักท้ายสุดขึ้นมา 7 หลัก เพื่อทำการตัดทิ้ง แต่ก่อนจะทำการตัด ดูตัวเลขในหลักที่ 7 ก่อนทำการตัด ถ้าเลขนั้น มีค่าต่ำกว่า 5 ตัดทิ้งไป สูงกว่าหรือเท่ากับ 5 ปัดขึ้น โดยทบเข้ากับเลขในหลักที่ 8 อีกหนึ่งก่อนทำการตัดทิ้ง ทุกกรณี(ห้ามสับสนกับเรื่องตัวเลขหน้าเลข 5 เป็นเลขคู่ปัดทิ้ง คี่ปัดทบ ซึ่งเป็นหลักคิดของทศนิยมสมัยใหม่ โดยเด็ดขาด)
หลังจากทำตามขั้นตอนทั้งหมด ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นดังนี้
พลอาทิตย์ = 18843800
พลจันทร์ = 251919427
พลอุจจ์ = 2129184
พลราหู = 1013322
ขั้นตอนต่อไป เป็นการทำค่ามัธยม ของ 4 วัตถุ ข้างต้น ซึ่งก็คือ การหาค่า ตำแหน่งเฉลี่ย ทั้ง 4 วัตถุ นี้ ในทางดาราศาสตร์ปัจจุบัน นั่นเอง
โดยในขั้นตอนนี้ จะแยกค่ามัธยม ออกจากกันเป็น 2 ค่า คือ ปฐม กับ ทุติยะ
ดังนั้น ค่าที่คำนวณได้จะมีทั้งหมด 8 ชุด ด้วยกัน
การคำนวณ จะเริ่มจากนำค่าพล ทั้งสี่ค่า ที่ได้มาแล้ว ให้นำไปบวกหรือลบกับ 4 ค่าคงที่ดังต่อไปนี้
สำหรับ มัธยมปฐม คือ
มัธยมอาทิตย์ปฐม นำค่าพลอาทิตย์บวกด้วย 12268
มัธยมจันทร์ปฐม นำค่าพลจันทร์ บวกด้วย 11339
มัธยมอุจจ์ปฐม นำค่าพลอุจจ์ บวกด้วย 17641
มัธยมราหูปฐม นำค่าพลราหู ลบด้วย 8014
จากนั้น ทำให้เป็น มัธยมทุติยะ ด้วยการบวกหรือลบ กับ 4 ค่าคงที่ต่อไปนี้ คือ
มัธยมอาทิตย์ทุติยะ นำค่ามัธยมอาทิตย์ปฐม บวกด้วย 59
มัธยมจันทร์ทุติยะ นำค่า มัธยมจันทร์ปฐม บวกด้วย 790
มัธยมอุจจ์ทุติยะ นำค่า มัธยมอุจจ์ปฐม บวกด้วย 7
มัธยมราหูทุติยะ นำค่า มัธยมราหูปฐม บวกด้วย 3
หมายเหตุ ณ จุดนี้ ผู้เขียน ก็ทราบเหตุผลแล้ว เช่นกันว่า ทำไม จึงเป็น ปฐม และ ทุติยะ แต่ ขอยกไว้ นำไปอธิบายในภายหลัง
โดยค่าทั้งหมดที่ได้จาก การคำนวณ ในขั้นตอนนี้ มีดังนี้
มัธยมอาทิตย์ปฐม = 20868
มัธยมจันทร์ปฐม = 9966
มัธยมอุจจ์ปฐม = 8425
มัธยมราหูปฐม = 11708
มัธยมอาทิตย์ทุติยะ = 20927
มัธยมจันทร์ทุติยะ = 10756
มัธยมอุจจ์ทุติยะ = 8432
มัธยมราหูทุติยะ = 11711
เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ เราจะได้ตำแหน่ง เฉลี่ย ของ ทั้งสี่ วัตถุ คือ อาทิตย์ จันทร์ อุจจ์ และ ราหู
สำหรับการคำนวณ ในขั้นต่อไป จะได้มาทำการหา ค่าตำแหน่งแท้จริง ของวัตถุที่ก่อให้เกิด อุปราคา คือ อาทิตย์ จันทร์ และราหู ซึ่งจะได้นำเสนอ ในตอนต่อไป.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Julian Date หรรษา

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์