กรณีศึกษา การคำนวณจันทรุปราคาด้วยคัมภีร์สารัมภ์ [บทนำ]

กรณีศึกษา การคำนวณจันทรุปราคาด้วยคัมภีร์สารัมภ์ [บทนำ]
ตัวอย่างการคำนวณจันทรุปราคาด้วยคัมภีร์สารัมภ์
 
สิ่งสำคัญที่ต้องทำ ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นคำนวณ จันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา นั่นก็คือ การตรวจสอบ วัน และ เวลาที่คาดว่าจะเกิด ให้แม่นยำ แน่นอน เสียก่อน ต่อเมื่อ ตรวจสอบจนแน่ใจแล้วว่า มีอุปราคาเกิดขึ้นแน่ๆ จึงค่อยเริ่มทำตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
ขั้นแรกเริ่มสุด ให้คำนวณหาค่าอุณทิน(ปุณทิน กรณีที่ใช้ตำราของ อ.หลวงพรหมโยธีฯ) ให้เรียบร้อย และถูกต้อง
โดยตรวจสอบในทั้งสองวิธีการคือ คำนวณมาจากมหาศักราชด้วยคตมาสเกณฑ์ และ คำนวณจาก จุลศักราช ด้วยค่าหรคุณอัตตา ณ วันที่เกิดอุปราคา พร้อมทั้งตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้ง
จากการหารอุณทิน ซึ่งเศษที่ได้ จะเป็นตัวพิจารณาว่า ใช่วันนั้นจริงหรือไม่

ขั้นตอนต่อไป หลังจากการหาอุณทิน(ปุณทิน กรณีที่ใช้ตำราของ อ.หลวงพรหมโยธี) จะมีดังต่อไปนี้ คือ
  1. การหาค่าพล ของ 4 วัตถุ คือ อาทิตย์ จันทร์ อุจจ์ และ ราหู
  2. การหาค่า มัธยม ของ 4 วัตถุ จากโดยอาศัยค่าพลจากข้อ 1 ซึ่งค่ามัธยมทั้ง 4 วัตถุ จะแตกออกเป็นสองค่าคือ ปฐมและทุติยะ
  3. การหาค่า สมผุส ของ 4 วัตถุ จากข้อ 1 โดยอาศัยค่ามัธยมจากข้อ 2 ซึ่งสมผุสที่ได้ ก็จะมีสองค่าคือ ปฐมและทุติยะ เช่นเดียวกัน
จาก 3 หัวข้อ ข้างต้น เป็นเพียงการหาค่าตั้งต้นก่อนการคำนวณจริง เท่านั้น เพราะ ยังมีอีก 5 ค่าสำคัญ ที่ต้องอาศัย ค่ามัธยมและสมผุส ของ ทั้ง 4 วัตถุ มาช่วยในการคำนวณด้วย นั่นคือ
รวิวภุกดิ , รวิภุกดภุกดิ , จันทร์ภุกดิ , จันทร์ภุกดภุกดิ และ ภูจันทร์ รวมเป็น 9 ค่าสำคัญ ที่จะใช้ทั้งหมด ตลอดในการคำนวณ จันทรุปราคา (สำหรับสุริยุปราคา จะแตกต่างออกไปเฉพาะวิธีการคำนวณหาเท่านั้น ในขั้นตอนการหา 9 ค่าสำคัญ ที่กล่าวมาก่อนหน้านั้น ก็ทำแบบนี้เช่นกัน)
เมื่อมีค่าตั้งต้นครบ 9 ค่าแล้ว จึงจะเริ่มขั้นตอนการคำนวณ จันทรุปราคา ดังนี้
  1. หาค่าฉายาเคราะห์
  2. หาค่า ปุณมี จาก ค่าเคราะห์หันตกุลาและภูจันทร์
  3. คำนวณ สมรวิกุลา ,สมจันทร์กุลา และ สมราหูกุลา
  4. คำนวณหา ตักกลารวิ ตักกลาจันทร์ และ ตักกลาราหู
  5. คำนวณ ราหูภุช
  6. คำนวณ หา ราหูวิกขิป
  7. คำนวณ หา มูลมหานาที
  8. คำนวณ หา ติตถมหานาที จากมูลมหานาที
  9. คำนวณ หา ค่าที่มีชื่อเรียกในคัมภีร์ว่า ปรัสถกลมหานาที และ มุขกลหมหานาที
    โดยใช้ค่า ปุณมี ที่หาได้จากข้อ 2 และ ค่าติตถมหานาที ที่ได้จาก ข้อ 8 มาคำนวณ
  10. คำนวณหา ทินประมาณ จาก ตักกลารวิ โดยใช้แผนผัง อันโตฌานราศี เข้ามาช่วย
  11. คำนวณหา ทินาฒ จากการนำ ทินประมาณมาหาร 2
  12. คำนวณหา นิสาฒ โดยการตั้งเลขเกณฑ์ 60 มหานาที มาหักลบออกจาก ทินประมาณ เป็นค่าของ รัตติประมาณ
    จากนั้น จึงคำนวณ นิสาฒ ด้วยการนำ รัตติประมาณมาหาร 2
  13. คำนวณหาเวลา แรกจับ และ คลายออก ดังนี้
    หาเวลา แรกจับ นำ ปรัสถกลหมหานาที ลบ จาก ทินประมาณ และ นิสาฒ ตามลำดับ (ถ้าลบไม่ได้ ที่จุดไหน ถือเป็นอันสิ้นสุด การคำนวณ ไม่ต้องหาต่อ)
    สำหรับ เวลา คลายออก ให้นำ มุขกลหมหานาที ไปคำนวณหาในทำนองเดียวกัน
  14. กรณีที่ต้องการทราบเวลากึ่งกลางคราส ให้นำเวลา คลายออก กับ แรกจับ มาหักลบกัน ได้เท่าใด หาร 2
    จากนั้น นำเวลาที่หารได้ ไปบวกเข้ากับเวลาแรกจับ จะได้เวลา กึ่งกลางคราส หรือ อัฒคราส
โดยสรุป จากขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ผลสรุป ของค่าที่ต้องการ จะมีด้วยกัน อยู่ สอง ถึง สามค่า ด้วยกัน นั่นคือ
  • ก. เวลาแรกจับ
  • ข. เวลาปล่อย(คลายออก)
  • ค. เวลากึ่งกลางคราส
สำหรับ เวลาในข้อ ค นั้น ตำราไทยเดิม ไม่ได้เขียนเอาไว้
ดังนั้น ตำราของหลวงวิศาลฯ และ หลวงพรหมโยธีฯ จึงได้ทำเพิ่มเติมให้
จริงๆ แล้ว ค่านี้ เป็นค่าที่มีสำคัญ ในการคำนวณของ ดาราศาสตร์ทั้งในปัจจุบันและโบราณ
พบว่า ในตำราดาราศาสตร์ของอินเดียโบราณ ก็มีวิธีการคำนวณหาค่านี้เอาไว้ด้วย เนื่องจาก เป็นค่าที่ใช้แบ่งครึ่ง ช่วงระยะเวลาการเกิดคราส ออกเป็นสองช่วง คือ ช่วงแรกจับ จนถึง เกิดคราส และ เวลาหลังจากเกิดคราส ไปจนถึง การคลายออก
ในตอนหน้า จะได้ยกเอาวิธีการคำนวณทั้งหมด โดยขออาศัยแนวทางจากตำราของ อ.หลวงวิศาลฯ ก่อน จากนั้น ค่อยนำมาอธิบายในแต่ละจุดที่สำคัญและน่าสนใจ เชิญติดตามได้เลยครับ.
หมายเหตุ
สำหรับการหาค่าพล ซึ่งมีวิธีการอัฑฒาธิกรรมพร้อมกับตัดหลักนั้น
ในระหว่างการเรียบเรียง กรณีศึกษานี้ ผู้เขียน ได้ทราบถึงเหตุผล ของการตัดหลัก ตัวเลขตามที่ตำรานี้กล่าวไว้แล้ว โดยการเปรียบเทียบตัวเลขที่ใช้คำนวณค่าพลจากอีกตำราหนึ่งซึ่งเป็นของ อ.หลวงพรหมโยธีฯ และจากงานวิจัยของต่างประเทศที่เข้ามาทำการศึกษา เรื่องการคำนวณอุปราคาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับ เหตุผลที่ทราบนี้ ขอยกไปอธิบายในภายหลัง ซึ่งรวมถึง การทำค่ามัธยมและสมผุส ว่า ทำไม ต้องแยกเป็น ปฐม กับ ทุติยะ อีกด้วย โดยจะขอยกไว้อธิบายในภายหลังอีกเช่นกัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Julian Date หรรษา

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์