สุริยสิทธานตะ- Reboot-คำนวณตำแหน่งดาว-ตอนที่ 1

 สุริยสิทธานตะ- Reboot-คำนวณตำแหน่งดาว-ตอนที่ 1

          หลังจากที่คำนวณหาอหรคุณผ่านสูตรที่ได้นำเสนอมาได้แล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ ก็คือ การเริ่มต้นหาตำแหน่งดาวต่อโดยใช้ค่าของอหรคุณ

          บอกกล่าวกันก่อน บทความชุดนี้ เดิมที เคยเขียนไว้นานแล้ว เพียงแต่ยังไม่ทันนำออกไปเผยแพร่ ตั้งแต่ช่วงที่ยังใช้ตำราของ E.Burgess เป็นหลัก ดังนั้น ตัวอย่างวิธีการจึงเป็นสิ่งที่เรียบเรียงมาจากหนังสือของ E.Burgess แต่ได้เพิ่มเสริมในส่วนของวิธีการใหม่จาก ท่าน ศ. S.Balachandra Rao. ในภายหลัง รวมถึงวิธีการใช้งานตาราง sine ของ Hindu แต่พอสังเขป ซึ่งในตำราเดิม ก็ไม่ได้ระบุเอาไว้ ทางผู้เขียน จึงได้จัดทำและเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้ทำความเข้าใจกับการใช้งานของมันได้ง่ายขึ้น

        

 ก่อนจะเริ่มการคำนวณ ขอทบทวนถึงข้อมูลที่จะนำมาใช้ประกอบการคำนวณอีกครั้ง

In Mahayuga                 Surya Siddhanta

No.Rev of Sun               4,320,000.00

No.Rev of Moon            57,753,336.00

No.Rev of Asterism     1,582,237,828.00

No.Rev of Moon Apsis        488,203.00

No.Rev of Moon Node        232,238.00

No.of Civil Days         1,577,917,828.00

 

ตัวเลขที่เห็นอยู่ข้างต้น เป็นเลขรอบการโคจรของสี่วัตถุคือ อาทิตย์ จันทร์ จุดอุจจ์ของจันทร์ และ จุดตัดวงโคจร ของโลก กับ จันทร์ (node) และจำนวนของวันในมหายุค

สำหรับ ค่าของตำแหน่งดาวที่คำนวณได้นี้ คือ ตำแหน่งดาว ณ เมอริเดียนหลักของฮินดู เมืองอุชเชนี ณ เวลาเที่ยงคืน

การคำนวณตำแหน่งดาว ณ เมืองอุชเชนี ทั้งหมด หาได้จากความสัมพันธ์ ต่อไปนี้

1. ตำแหน่งอาทิตย์ เฉลี่ย หาจาก เลขอหรคุณ x (รอบโคจร อาทิตย์ มหายุค / จน.วัน มหายุค)

 2. ตำแหน่งจันทร์เฉลี่ย หาจาก เลขอหรคุณ x (รอบโคจร จันทร์ มหายุค / จน.วัน มหายุค)

3. อุจจ์จันทร์ หาจาก เลขอหรคุณ x (รอบโคจร อุจจ์จันทร์ มหายุค / จน.วัน มหายุค)

4. จุดตัดวงโคจรโลกกับจันทร์(ราหู)

          ต้องหาอัตราเร็วเฉลี่ย ของราหู ก่อน โดยคำนวณตามปกติ คือ

                   อัตราเร็วราหูเฉลี่ย = เลขอหรคุณ x (รอบโคจร ราหู มหายุค / จน.วัน มหายุค)

          จากนั้น ให้นำ 180 องศา มาหักลบ อัตราเร็วราหูเฉลี่ย  จึงจะเป็น ตำแหน่งของราหูเฉลี่ย

          ที่เป็นเช่นนี้ เพราะราหู เดินกลับทางกับดาวอื่นๆ

          จากข้างต้นที่กล่าวมานั้น เป็น ความสัมพันธ์จากอหรคุณที่คำนวณจากตอนสิ้นยุคทอง

          แต่ ในตัวอย่างนี้ เราใช้ค่าอหรคุณ ที่คำนวณจากจุดเริ่มต้นของกลียุค

          ซึ่ง ในตอนเริ่มต้นของกลียุคนี้ มีบางดาว เปลี่ยนตำแหน่งไป ดังนี้

          สำหรับ อุจจ์จันทร์ ย้ายจากจุดตั้งต้น ราศีเมษ มาอยู่ ณ ราศีมกร คิดเป็นมุม คือ 90 องศา

          ส่วน ราหูนั้น ยังคงอยู่ ณ จุดเดิมคือ ราศีตุล ซึ่งเป็น จุดตรงข้ามราศีเมษ  ที่ 180 องศา เช่นเดิม

          ทำให้ ค่าของอุจจันทร์ ที่ได้ ต้องเพิ่ม ไปอีก 90 องศา จึงจะเทียบเท่ากับจุดเริ่มต้น ณ กลียุค(บวกทวนเข็ม)

          ขณะที่ ราหู ยังคงคำนวณ แบบเดิม

 

ตัวอย่าง การหาตำแหน่งดาว ณ วอชิงตัน เวลาเที่ยงคืน วันที่ 1 มกราคม 1860

          หลังจาก การคำนวณ ด้วย อหรคุณกลียุค เราได้เลข อหรคุณ เป็น 1811945

          ขั้นตอนต่อจากนี้ คือ การหาตำแหน่งดาว ณ เมอริเดียนหลักของฮินดู เมืองอุชเชนี ณ เวลาเที่ยงคืน

โดยคำนวณ หาตำแหน่งดาวที่สังเกตได้ ณ เมืองอุชเชนี เวลาเที่ยงคืน วันที่ 1 มกราคม 1860 ดังวิธีการต่อไปนี้

          ตัวอย่าง การคำนวณหาตำแหน่งของ ดวงอาทิตย์ จันทร์ อุจจ์จันทร์ และ ราหู

ตำแหน่งของอาทิตย์ = 1811945 x (4320000 / 1577917828)
          เมื่อคำนวณแล้ว จะได้ตำแหน่งของอาทิตย์ เป็นดังนี้

                                                                   ราศี     องศา    ลิบดา   ฟิลิบดา
          ตำแหน่งมัธยม อาทิตย์ ณ เวลาเที่ยงคืน อุชเชนี      8        17      48      7      

         

หาตำแหน่ง จันทร์

                   ตำแหน่งของจันทร์ = 1811945 x (57753336 / 1577917828)
         

          เมื่อคำนวณแล้ว จะได้ตำแหน่งของจันทร์ เป็นดังนี้

                                                                   ราศี     องศา    ลิบดา   ฟิลิบดา
          ตำแหน่งมัธยม จันทร์ ณ เวลาเที่ยงคืน อุชเชนี        11      15      23      24     

     

          หาตำแหน่งของอุจจ์จันทร์

                   ตำแหน่งของอุจจ์จันทร์ = 1811945 x (488203 / 1577917828)

                                                                   ราศี     องศา    ลิบดา   ฟิลิบดา
          ตำแหน่งมัธยม อุจจ์จันทร์ คำนวณได้                  7        9        42      26

          ให้บวกเข้าไปอีก 3 ราศี(หรือ 90 องศา)           +  3        0        0        0       

          ตำแหน่งมัธยม อุจจ์จันทร์ ณ เวลาเที่ยงคืน อุชเชนี   10      9        42      26

 

          หาตำแหน่งของราหู(Moon’s Node)
          อันดับแรก หาอัตราเร็วเฉลี่ยของราหูก่อน
                   อัตราเร็วเฉลี่ยของราหู = 1811945 x (232238 / 1577917828)

                                                                  ราศี       องศา    ลิบดา   ฟิลิบดา
                   อัตราเร็วเฉลี่ยราหู                              8       5        33      56

                                                                  ราศี       องศา    ลิบดา   ฟิลิบดา
          เอา 18 ราศี ตั้ง                                        18                

          หักลบ อัตราเร็วเฉลี่ยราหู                    -         8        5        33      56     

          ตำแหน่งของราหู ณ เวลาเที่ยงคืน อุชเชนี           9        24      26      4

 

หมายเหตุ  ตำแหน่งราหูเฉลี่ย ณ ตอนต้นกลียุค จะอยู่ที่ 180 องศา(6 ราศี)
            ฉะนั้น เมื่อต้องการให้ค่าที่ได้เป็นมุมที่เทียบกับตำแหน่งเริ่มต้น 0 องศา ต้องเอา 360 องศา(12 ราศี)
            มาหักลบ หากมุมที่ได้นั้น มีค่า ไม่เกิน 180 องศา

            แต่ถ้ามุมที่ได้นั้น มีค่าเกินกว่า 180 องศา(เกิน 6 ราศี)
            การเอา 360 องศา ไปหักลบ จะพบว่า ยังขาดอีกครึ่งรอบ จึงจะเทียบได้กับจุดเริ่มต้น 0 องศา
            จึงต้องเพิ่มเข้าไปอีก 180 องศา(6 ราศี) จะได้มุมที่วัดเทียบจากจุดเริ่มต้น

            ดังนั้น เลขที่ต้องใช้คำนวณประกอบการหักลบในหน่วยราศีจึงเป็น 18 แล้วจึงกระจายตัวเลขออกไปในแต่ละหน่วยตามลำดับ

          ทั้งหมด ที่ยกตัวอย่างมา ยังคงเป็นตำแหน่งดาวที่สังเกตได้ ณ เมืองอุชเชนี เวลาเที่ยงคืน ยังไม่ใช่เมืองวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา จะต้องมีวิธีการปรับย้ายพิกัดจากเมืองอุชเชนี อินเดีย ไปยัง วอชิงตัน สหรัฐอเมริกาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งรายละเอียด โดยย่อ จะได้กล่าวถึง ในตอนถัดไป.

หมายเหตุเพิ่มเติม เมื่อกล่าวถึงตำแหน่งดาว จะหมายถึง ตำแหน่งดาวเฉลี่ย สำหรับ ตำแหน่งจริง จะถูกนำมาคำนวณหาโดยอาศัยตำแหน่งเฉลี่ย ที่คำนวณได้ในตอนนี้ เป็นพื้นฐาน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวบรวมสมการสุริยยาตร์ ตอนที่ 2 ภาคสมการสมผุส

Julian Date หรรษา

กรณีศึกษา การทดสอบใช้สมการสุริยยาตร์ หาสมผุสดาวพฤหัสบดี และ ดาวเสาร์